พรบ.ภาษีที่ดิน คำตอบหรือทางตันของการอนุรักษ์เสือปลา
วันศุกร์ ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2567
การดู : 153
แชร์ :
งานวิจัยเผยเขาสามร้อยยอดอาจเป็นแหล่งสุดท้ายของเสือปลา กล้องตรวจจับร่องรอย เห็นภาพหลายจุด ในที่ดินเอกชนที่ปล่อยรกร้าง ชี้กม.ภาษีที่ดินเป็นปัญหา เจ้าของที่ต้องพัฒนาลดรายจ่าย กระทบการอนุรักษ์แน่
ผศ. ดร.นฤมล ตันติพิษณุ นักวิจัยสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หนึ่งในผู้ทำวิจัยโครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย มจธ. กล่าวว่า จากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ การเก็บตัวอย่างมูล การสอบถามจากคนในพื้นที่ ช่วงปี 2562 ถึงปัจจุบัน บริเวณเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่โดยรอบ เป็นถิ่นที่มีเสือปลาอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศ ส่วนจุดอื่นๆ ที่เคยพบในอดีต ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก พื้นที่ชุ่มน้ำจ.พัทลุงและสงขลา พบน้อย หรือแทบไม่เจอเลย
ที่ต.พันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร ได้ภาพถ่ายจุดที่คาดว่าจะเป็นที่หากินแหล่งสุดท้ายของเสือปลา ทางภาคตะวันออกไม่ได้ภาพแต่อย่างใด แม้จะติดกล้องมาแล้วครึ่งปี สะท้อนว่าเขาสามร้อยยอด อาจเป็นแหล่งอาศัยสุดท้ายของเสือปลาในไทย ที่น่าสนใจคือ พบร่องรอยการดำรงอยู่ของเสือปลาในที่รกร้างของชาวบ้านหลายแปลง หลายพื้นที่
ผศ. ดร.นฤมล กล่าวว่า เสือปลาเป็นสัตว์ผู้ล่า กินสัตว์ได้หลายชนิด ที่ใดมีแหล่งน้ำ มีอาหาร ก็ปรับตัว อยู่รอดได้ กล้องที่ติดในสวนปาล์ม สวนมะพร้าวเก่าที่เจ้าของทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์หลายแห่ง เก็บภาพ ยืนยันว่าเป็นถิ่นหากิน อยู่อาศัยของเสือปลา
“คนที่กำหนดทิศทางของที่ดินแปลงนั้น จะปล่อยไว้ หรือจะพัฒนาคือเจ้าของที่ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ หากพบเสือปลาในที่แปลงใด ก็ไปพูดคุยกับเจ้าของ อธิบายให้เข้าใจว่า ที่ดินของเขาเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์หลายชนิด รวมถึงเสือปลา สัตว์ป่าคุ้มครอง ที่มีโอกาสจะสูญพันธุ์จากเมืองไทย จากการพูดคุย เจ้าของที่ ที่ยังไม่มีโครงการหรือแผนปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่ไปในเชิงพาณิชย์ ก็มีท่าทีตอบรับ แต่การประกาศใช้ พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ อาจผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่รกร้างนั้น เพื่อลดภาระการเสียภาษีอัตราก้าวหน้า หรือขายต่อให้กับนายทุนรายอื่น ซึ่งจะเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ต่างๆ รวมถึงเสือปลาที่จะต้องหายไปจากพื้นที่”ผศ. ดร.นฤมลกล่าว
แนวทางการรักษาพื้นที่ ที่เหมาะกับเสือปลาบนที่ดินของชาวบ้านหรือภาคเอกชน ผศ. ดร. นฤมล ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย จ่ายเงินให้กับผู้ครอบครองที่ดิน ซึ่งมีความสำคัญต่อสัตว์ป่าหรือพืชพื้นถิ่น สิ่งที่พอเป็นไปได้สำหรับประเทศไทย อาจอยู่ในรูปมาตรการจูงใจ เช่น ลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ให้เจ้าของที่ดิน ที่ยอมปล่อยพื้นที่ เป็นที่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่า ภาครัฐต้องกำหนดนโยบายการจัดการพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม จูงใจให้เจ้าของที่ดินเลือกปล่อยที่ ให้สัตว์หลายชนิดอาศัยดำรงชีวิต
เสือปลา 1 ใน 9 สัตว์ตระกูลแมวในประเทศไทย สถานะใกล้สูญพันธ์เป็นที่มาของการวิจัยโครงการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย สร้างฐานข้อมูลเสือปลาพื้นที่ต่างๆ ทั้งการปรากฏ ขนาดประชากร การเปลี่ยนแปลงประชากร อัตราการรอดชีวิต ภัยคุกคาม เพื่อการอนุรักษ์ต่อไป
โครงการการอนุรักษ์เสือปลาอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) องค์การสวนสัตว์ ในพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศทั้งพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนใน ภาคตะวันออก และพื้นที่ชุ่มน้ำ จ.พัทลุงและสงขลา
ข่าวอัพเดท