เปิดโผ 10 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ปี 2568

วันอังคาร ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

การดู : 67

เปิดโผ 10 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ปี 2568

แชร์ :

NARIT เปิดโผ 10 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามปี 2568 จันทรุปราคาเต็มดวง ดาวอังคารใกล้โลก ดาวศุกร์สว่างที่สุด ดาวเสาร์ไร้แหวน ดวงจันทร์ใกล้-ไกลโลก ฝนดาวตก ดาวเคียงเดือน มีให้ชมตลอดปี

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้จัดการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, (องค์การมหาชน) (สดร.- NARIT) เปิดเผยว่า สดร.คัดสรร 10 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2568 ดังนี้

1. ดาวอังคารใกล้โลก และ ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์  คืนวันที่ 12 มกราคม 2568 ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ระยะห่างประมาณ 96 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะโคจรไปอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์วันที่ 16 มกราคม 2568 สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน ปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงบนฟ้า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไป จะเห็นพื้นน้ำแข็งสีขาวบริเวณขั้วของดาวอังคาร ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นทุก ๆ ประมาณ 26 เดือน

2. ดาวศุกร์สว่างที่สุด  เกิด 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงค่ำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ทางทิศตะวันตก และรุ่งเช้า วันที่ 24 เมษายน 2568 ทางทิศตะวันออก

3. ดาวเสาร์เสมือนไร้วงแหวน  ช่วงวันที่ 23 - 24 มีนาคม 2568 ดาวเสาร์จะปรากฏเสมือนไร้วงแหวน เป็นมุมมองจากโลก ลักษณะนี้จะเห็นได้ 15 ปี แต่วันดังกล่าวดาวเสาร์อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ จึงขึ้นเวลากลางวัน สังเกตการณ์ได้ยาก แนะนำชมช่วงดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีวันที่ 21 กันยายน 2568

4. ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 21 กันยายน 2568 ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) มีระยะใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,279 ล้านกิโลเมตร สังเกตการณ์ได้ตลอดทั้งคืน ช่วงดังกล่าวไม่ปรากฏเสมือนไร้วงแหวน แต่ระนาบวงแหวนมีมุมเอียงน้อย จึงจะเห็นเป็นดาวเสาร์พร้อมวงแหวนบาง ๆ

5. จันทรุปราคาเต็มดวง ไฮไลต์เด่นที่น่าจับตาที่สุดในปีนี้  เป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในไทยครั้งแรกในรอบสามปี (ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2565) ในคืนวันที่ 7 - เช้ามืด 8 กันยายน 2568 เวลา 22:29 น. ถึง 03:55 น. (ตามเวลาประเทศไทย) คราสเต็มดวงเวลา 00:31 ถึง 01:53 น. ดวงจันทร์เต็มดวงจะเป็นสีแดงอิฐ นาน 1 ชั่วโมง 22 นาที ประเทศไทยมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

6. ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี  ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) วันที่ 13 เมษายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏเล็กว่าปกติเล็กน้อย และดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) ตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย

7. ฝนดาวตกน่าติดตาม  ฝนดาวตกเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไฮไลต์เด่นของฝนดาวตกในปี 2568 คือ ฝนดาวตกเจมินิดส์ (อัตราการตก 150 ดวงต่อชั่วโมง) คืนวันที่ 14 - 15 ธันวาคม 2568 ปีนีี้ไม่มีแสงจันทร์รบกวน สำหรับฝนดาวตกอื่น ๆ ตลอดปี มีดังนี้

3 - 4 มกราคม 2568

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (อัตราการตก 80 ดวงต่อชั่วโมง)

22 - 23 เมษายน 2568

ฝนดาวตกไลริดส์ (อัตราการตก 18 ดวงต่อชั่วโมง)

5 - 6 พฤษภาคม 2568

ฝนดาวตกอีตาอควอริดส์ (อัตราการตก 50 ดวงต่อชั่วโมง)

30 - 31 กรกฎาคม 2568`

ฝนดาวตกเดลตาอควอริดส์ (อัตราการตก 25 ดวงต่อชั่วโมง)

21 - 22 ตุลาคม 2568

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง)

17 - 18 พฤศจิกายน 2568

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง)

22 - 23 ธันวาคม 2568

ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ (อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง)

 

8. ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุม  ปี 2568 มีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุมให้ชมตลอดทั้งปี ได้แก่

 

4 ม.ค. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์  

18 ม.ค. 68

 

ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์  

1 ก.พ. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์  

11 เม.ย. 68

 

ดาวพุธเคียงดาวเสาร์  

25 เม.ย. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์และดาวเสาร์  

26 เม.ย. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวพุธ  

29 เม.ย. 68

 

ดาวศุกร์เคียงดาวเสาร์  

2 พ.ค. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวพอลลักซ์และคาสเตอร์ (ปรากฏคล้ายพระจันทร์ยิ้ม)

23 พ.ค. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวเสาร์  

24 พ.ค. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวศุกร์  

1 มิ.ย. 68

 

ดวงจันทร์เคียงดาวอังคาร

12 ส.ค. 68

 

ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี

 

9. ดวงอาทิตย์ตั้งฉากประเทศไทย ครั้งแรกช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เริ่มจากภาคใต้ไล่ขึ้นไปเรื่อย ๆ กรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 27 เมษายน 2568 และจบที่ภาคเหนือในเดือนพฤษภาคม ครั้งที่สองช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน เริ่มจากภาคเหนือปลายเดือนกรกฎาคม ไล่ลงไปจนถึงกรุงเทพฯ ตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม 2568 และจบที่ภาคใต้ในช่วงเดือนกันยายน ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านจุดเหนือศีรษะ (ตั้งฉากกับประเทศไทย) จะแตกต่างกันไปแต่ละพื้นที่ สังเกตได้จากเงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดีเสมือนไร้เงา

10. ฤดูกาลทางดาราศาสตร์  วันที่กำหนดฤดูกาลต่าง ๆ ของโลกในปี 2568 มีดังนี้

- วันที่ 20 มีนาคม 2568 วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

- วันที่ 21 มิถุนายน 2568 วันครีษมายัน (Summer Solstice) ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

- วันที่ 23 กันยายน 2568 วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนนับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

- วันที่ 21 ธันวาคม 2568 วันเหมายัน (Winter Solstice) ช่วงเวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

สดร. เชิญชวนประชาชนติดตามชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สนใจ ซึ่ง สดร. มีแผนจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตลอดทั้งปีติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง