‘สยามรัถยา’ความหมายใหม่ของประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ
วันอาทิตย์ ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2567
การดู : 89
แชร์ :
วช. เชิดชูประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทย ผ่านหนังสือ สยามรัถยา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยเมื่อท้องถิ่นสร้างเมือง
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมเรื่องขุมทรัพย์จากอดีต: ประวัติศาสตร์สยามรัถยา ในช่วงมหกรรมวิจัยแหงชาติ ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อ29สค67
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ประวัติศาสตร์สยามรัถยาถือเป็นขุมทรัพย์จากอดีตที่มีความสำคัญ การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเส้นทางความเจริญของสุวรรณภูมิ รวบรวมและบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าจากแหล่งต่าง ๆ เอกสารโบราณ งานวิจัยทางโบราณคดี และข้อมูลทางวรรณกรรมที่มีความสำคัญ ช่วยให้เข้าใจรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามรัถยา ความรู้ที่มีค่าเกี่ยวกับการพัฒนาอารยธรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ วช. มีเป้าหมายเพื่อสร้าง ประวัติศาสตร์ไทยที่ยั่งยืน โดยเสริมสร้างและรักษาอัตลักษณ์ของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป
การเสวนาสยามรัถยาและวัฒนาท้องถิ่นไทยครั้งนี้เพื่อขยายความเรื่องเส้นทางของสุวรรณภูมิและความเจริญของประเทศไทยและศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไทยเมื่อท้องถิ่นสร้างเมืองจากบุคคลจากท้องถิ่นนั้น ๆ โดยนักวิชาการ ประกอบด้วย รศ. ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.เพชรรุ่ง เทียนปิ๋วโรจน์ อาจารย์จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ผศ. ดร.วรพร ภู่พงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ผศ.พิมพ์อุมา ธัญธนกุล อาจารย์สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์
ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ไทยมิใช่เพียงลำดับเหตุการณ์ในอดีต แต่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ความรู้ที่ต่อเนื่องปรับเปลี่ยนได้ตามบริบททางสังคมและพยานหลักฐานใหม่ ๆ การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นมากกว่าการท่องจำข้อเท็จจริง เป็นการตระหนักถึงความเป็นมาของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันหลากหลาย โดยเฉพาะอารยธรรมสุวรรณภูมิ รากฐานสำคัญของอัตลักษณ์ไทย แม้ยังขาดการยอมรับในระดับสากล แต่การศึกษาค้นคว้าเชิงลึกจะช่วยยืนยันความเป็นเอกลักษณ์และความเชื่อมโยงของอารยธรรมไทยกับภูมิภาคอาเซียน การศึกษาประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมและความสัมพันธ์กับนานาชาติ จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในกระบวนการโลกาภิวัตน์ของไทยและศักยภาพในการเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในภูมิภาค
ผู้สนใจ ติดตามอ่าน สยามรัถยา เส้นทางความเจริญของสุวรรณภูมิและสยามประเทศ ตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ถึงพุทธศักราช ๒๔๗๕ ฉบับอีบุ๊ก ออนไลน์ที่ https://online.anyflip.com/zpezp/wwsm/mobile/index.html
ข่าวอัพเดท