มจธ. พัฒนาอะลูมิเนียมใหม่ทนร้อนสูงผสมScธาตุหายากเพื่ออุตสาหกรรม EV
วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
การดู : 171

แชร์ :
ทีมวิจัย มจธ. พัฒนาอะลูมิเนียมผสมชนิดใหม่ นิกเกิลและธาตุหายากสแกนเดียม (Sc) ทนความร้อนสูง แข็งแรงกว่าอะลูมิเนียม-ซิลิคอนแบบเดิม เพิ่มอายุใช้งาน ทางเลือกใหม่สำหรับอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดใช้งานจริงในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยี Giga Casting
รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีแจ้งว่า ทีมนักวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ประกอบด้วย รศ. ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร, รศ. ดร.พร้อมพงษ์ ปานดี และ ดร.ชนันฐ์ สุวรรณปรีชา บัณฑิตทุนเพชรพระจอมเกล้าดุษฎีบัณฑิต นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ได้เปิดเผยผลงานวิจัยพัฒนาอะลูมิเนียมผสมชนิดใหม่ โลหะเจืออะลูมิเนียม-นิกเกิลที่เติมธาตุผสมหล่อสำหรับใช้งานที่อุณหภูมิสูง โดยการออกแบบโครงสร้างเส้นใยของเฟสที่แข็งแรง ประสานกับเนื้อโลหะที่เสริมความแข็งแรงของอนุภาคระดับนาโน โดยไม่สูญเสียสมรรถนะ คงความแข็งแรงที่อุณหภูมิสูงได้ ซึ่งใช้เวลาพัฒนานานกว่า 10ปี
รศ. ดร.เชาวลิต กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาการใช้ นิเกิล(Ni) แทนที่ซิลิคอนในอะลูมิเนียมผสมแบบเดิม พบว่าเกิดเส้นใยสารประกอบอะลูมิเนียม-นิกเกิล (Al₃Ni) ในโครงสร้าง ทำหน้าที่แกนเสริมความแข็งแรง ทนทานต่อความร้อนสูง แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดตามที่คาดหวัง จึงต้องหาเทคนิคเติมธาตุอื่นๆ เสมือนเคล็ดลับ คือ โลหะหายาก (Rare Earth elements) อย่าง สแกนเดียม (Scandium: Sc)
สแกนเดียมเป็นสูตรลับที่ไม่เคยมีใครเจือเข้าไปในอะลูมิเนียมเกรดนี้มาก่อน ด้วยสมบัติสำคัญคือ มีสัมประสิทธิการแพร่ในเนื้ออะลูมิเนียมต่ำมาก มีความสามารถละลายในสภาวะของแข็งต่ำ การมีธาตุสแกนเดียมทำให้ได้เป็นอนุภาคระดับนาโนเมตร (เล็กกว่าไมโครเมตร 1,000 เท่า) กระจายตัวอยู่ภายในเนื้ออะลูมิเนียม เกิดเป็นอนุภาคระดับนาโนของสารประกอบอะลูมิเนียม-สแกนเดียม (Al₃Sc) ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับทั้งเส้นใย Al₃Ni และเนื้ออะลูมิเนียม ทำให้วัสดุโดยรวมแข็งแรง ทนต่ออุณหภูมิสูง) ได้ดีขึ้น
อะลูมิเนียมผสมใหม่ จึงมีสมบัติทนความร้อนสูง มีเป้าหมายที่จะนำไปใช้ในงานที่ต้องเผชิญอุณหภูมิสูง เช่น ฝาสูบเครื่องยนต์ดีเซลที่มีกำลังอัดสูง อุณหภูมิในห้องเผาไหม้จะสูงขึ้น ชิ้นส่วนที่ใกล้กับเครื่องยนต์เจ็ท ที่อะลูมิเนียมเกรดทั่วไปอาจแตกร้าว หรือเสียรูป การใช้อะลูมิเนียมทนความร้อนสูง จะช่วยพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ กระบวนการเชื่อมประกอบในสภาวะของแข็งของชิ้นส่วนอะลูมิเนียมเกรดต่างกันเข้าด้วยกัน หรือเชื่อมอะลูมิเนียมเข้ากับวัสดุอื่น เช่น เหล็ก ทั้งในรถยนต์ทั่วไปและรถยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องผ่านอุณหภูมิสูง หากใช้อะลูมิเนียมที่ไม่ทนความร้อน จะส่งผลให้ความแข็งแรงบริเวณแนวเชื่อมและพื้นที่ใกล้เคียงลดลง ล้วนเป็นความท้าทายในการพัฒนาวัสดุสมัยใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่ต้องการลดน้ำหนักของตัวโครงสร้างลงเพื่อชดเชยกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากแบตเตอรี่ ช่วยเพิ่มระยะทางวิ่งโดยใช้แหล่งพลังงานเท่าเดิม
“วัสดุใหม่นี้ยังรองรับการผลิตแบบใหม่อย่าง Gigacasting เทคโนโลยีหล่อโครงสร้างของ EV ซึ่งเป็นแนวโน้มใหม่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรุ่น เทคโนโลยีนี้ใช้เครื่องฉีดอะลูมิเนียมขนาดใหญ่มาก หล่อชิ้นส่วนใหญ่เพียงไม่กี่ชิ้น แทนการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กจำนวนมากมาเชื่อมประกอบกัน (เช่น จาก 171 ชิ้น เหลือ 2 ชิ้น) การลดจำนวนชิ้นส่วน จะลดเวลาและต้นทุนการผลิต เพิ่มความแข็งแรงของโครงสร้างเพราะมีรอยต่อน้อย วัสดุที่ใช้ใน Gigacasting จำเป็นต้องมีความแข็งแรงสูเชื่อมประกอบกับวัสดุอื่นได้ ซึ่งอะลูมิเนียมทนความร้อนนี้ตอบโจทย์ได้” รศ. ดร.เชาวลิต กล่าว
แม้จะประสบความสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการและเผยแพร่ผลงานในวารสารวิจัยชั้นนำของโลก ได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว แต่ทีมวิจัยยอมรับว่ามีความท้าทายในการนำไปใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบในระยะยาว การขยายกระบวนการผลิต (scale-up) และการจับมือกับภาคอุตสาหกรรมในการนำวัสดุไปใช้จริง
รศ. ดร.เชาวลิต กล่าวอีกว่า เราต้องการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ในการนำวัสดุไปทดสอบในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น งานวิจัยนี้ ดูเป็นเรื่องของโลหะและวิศวกรรมที่ดูไกลตัวในสายตาคนทั่วไป แต่ คือภาพสะท้อนของความพยายามในการสร้างเทคโนโลยีวัสดุด้วยตัวเอง ของคนไทยที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก หากได้รับการต่อยอดจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง วัสดุชิ้นนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการขยับสถานะของประเทศไทย จากผู้ผลิตตามคำสั่ง ไปสู่การเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ในอนาคต
ข่าวอัพเดท

พิธีมอบรางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี” จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่จ.กระบี่
วันเสาร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เปิดมิติใหม่กรมอุทยานฯเปลี่ยนช้างร้ายเป็นผู้พิทักษ์ป่ากู้ภัย
วันศุกร์ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ชาวกระบี่ชื่นมื่น “ตะโกลา” เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลและการค้าเก่าแก่ของโลก
วันพฤหัส ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ดีป้าปั้นเด็ก Codingสร้างนิเวศรองรับสู่บุคลากรดิจิทัลของประเทศ
วันพฤหัส ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2568

มทร.ธัญบุรี ปลื้ม คว้า 12 รางวัลเวทีนวัตกรรมระดับนานาชาติ เซี่ยงไฮ้ 2025
วันพุธ ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2568

สมาคมนักข่าวฯ ผนึกกองทุนพัฒนาสื่อปั้นนักสื่อสารรุ่นใหม่
วันพุธ ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ไทย-เยอรมนีเปิดฐานข้อมูลจีโนไทป์-ฟีโนไทป์ มันสำปะหลังให้ใช้ฟรี
วันจันทร์ ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิธีมอบรางวัล “โพธิคยานาคาธิบดี” จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่จ.กระบี่"
วันเสาร์ ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เปิดมิติใหม่กรมอุทยานฯเปลี่ยนช้างร้ายเป็นผู้พิทักษ์ป่ากู้ภัย"
วันศุกร์ ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ชาวกระบี่ชื่นมื่น “ตะโกลา” เป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลและการค้าเก่าแก่ของโลก"
วันพฤหัส ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2568