ย้ำแปรปรวนฝนหนักระวังท่วมฉับพลัน ชลประทานมั่นใจ กทม.รอด
วันพุธ ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 74
แชร์ :
กรมอุตุฯ แจ้งความกดอากาศสูงมาถึงภาคเหนือ อีสาน 2 ตค67 ทำแปรปรวน ฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนหนัก ระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ชลประทานมั่นใจ กรุงเทพไม่น่าห่วง แม้ตอนผ่านนครสวรรค์จะสูงขึ้น
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ เวลา 18.00 น. วันที่ 2 ตค.67 แจ้งว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมด้านตะวันออกของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและทะเลจีนใต้แล้ว จะลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวันที่ 2 ต.ค. 67 ขณะที่ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักมาก บางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง
จึงขอให้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน พื้นที่ลุ่ม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง
คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)รายงานสถานการณ์น้ำวันที่ 2 ตค. 67 ให้เฝ้าระวัง ฝนตกหนักถึงหนักมากในประเทศเมียนมา บริเวณต้นน้ำของลุ่มน้ำสาย ลุ่มน้ำกก ดินยังอิ่มตัวจากฝนช่วงที่ผ่านมา อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากง่ายขึ้น โดยเฉพาะจ.เชียงราย
เฝ้าระวัง ช่วงวันที่ 2–3 ต.ค. 67 ฝนตกหนักถึงหนักมาก ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมถึง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากที่ลาดเชิงเขา และน้ำท่วมขังในเขตเมืองจากฝนที่ตกสะสม
เฝ้าระวัง แม่น้ำยม จ.พิษณุโลก อ.บางระกำ ที่ยังล้นตลิ่งบางพื้นที่จากฝนที่ตกสะสมในช่วงที่ผ่านมา
เฝ้าติดตาม ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จะสูงขึ้นจากฝนตกสะสมในลุ่มน้ำสาขาภาคเหนือช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับฝนที่ตกทางภาคกลาง ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น อาจทำให้ที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขาได้รับผลกระทบ
สสน. ได้แจ้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล่วงหน้า 72 ชั่วโมง (วันที่ 2 ตค67)
ภาคเหนือ 11 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ อุดรธานี
ภาคกลาง 3 จังหวัด นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี
ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ปราจีนบุรี
ภาคใต้ 1 จังหวัด นราธิวาส
กรมชลประทานชี้แจงว่า ฝนที่ตกหนักพื้นที่ จ.เชียงรายวันที่ 1 ตค67 จะไหลลงแม่น้ำโขง ไม่กระทบพื้นที่ภาคกลาง แต่พื้นที่เชียงรายจะมีน้ำท่วมขัง จากอุปสรรคเดิม คือดินโคลนที่ขวางทางระบายน้ำ
บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีฝนตกหนักทางตอนบน ทำให้แม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านมีระดับสูงขึ้นส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจ.นครสวรรค์เพิ่มขึ้นเป็น 2,124 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมกับแม่น้ำสะแกกรัง200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทางกรมบริหารจัดการโดยระบายน้ำออกทั้งสองฝั่ง ขณะที่การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงอยู่ที่ 1,899 ลบ.ม./ วินาที ระดับท้ายเขื่อนสูง 15.44 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง
ระดับน้ำที่ไหลผ่านสถานี ซี29 เอ 1,818 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที กรมชลประทานคาดว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อกรุงเทพฯ
วันที่ 2 ต.ค.67 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางไปรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และแนวทางการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กรมชลประทาน ซึ่งมีสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี ย้ำให้ทุกหน่วยงานติดตามใกล้ชิด บูรณาการการแจ้งเตือนประชาชนให้ทันท่วงที เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้พร้อมเช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว
ข่าวอัพเดท