กะละแมโบราณนครพนมขนมพื้นบ้านสู่โมเดลธุรกิจที่เชื่อมโยงคน ชุมชน ตลาด
วันศุกร์ ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2568
การดู : 65

แชร์ :
กะละแม ขนมพื้นบ้านนครพนม กำลังพลิกโฉมครั้งใหญ่ ด้วยงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน. เกิดการพัฒนาครบวงจร สร้างอัตลักษณ์ ยืดอายุจัดเก็บ เกิดอาชีพปลูกกล้วยทำใบตอง
ผศ.ดร.คมศักดิ์ หารไชย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการตลอดสายโซ่ผลิตภัณฑ์กะละแมโบราณนครพนม ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น กล่าวว่า มีเป้าหมายให้กะละแมโบราณนครพนม เป็นสินค้าคุณภาพที่แข่งขันได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน
ปีแรกของโครงการพบปัญหาระบบการผลิต วัตถุดิบ ขาดการเชื่อมโยงของผู้ประกอบการแต่ละรายต่างดำเนินธุรกิจของตนเอง ขาดพลังการขยายตลาด โครงการนี้จึงสร้างความเข้าใจ สร้างเป้าหมายร่วมกัน เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตร สร้าง "Brand DNA" ของกะละแมโบราณนครพนม เน้นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์และอัตลักษณ์ของพื้นที่
“สิ่งที่ทีมวิจัยให้ความสำคัญคือ การร่วมมือร่วมใจกัน กำหนดคุณค่าหลักที่ทุกฝ่ายร่วมกันรักษา ให้เป็นสินค้าที่สะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของนครพนมอย่างแท้จริง”
ปีที่สองเป็ฯการยกระดับงานวิจัย แก้ปัญหาพื้นฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์กะละแม เช่น อายุการเก็บรักษาสั้น เนื้อสัมผัสเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป็นอุปสรรคในการขยายตลาด จึงพัฒนาเนื้อสัมผัสให้คงความเหนียวนุ่มนานขึ้น ให้วางขายในตลาดที่กว้างขึ้น โดยคงคุณภาพไว้
อีกปัญหาคือใบตอง วัตถุดิบใช้ห่อกะละแม ต้องซื้อจากต่างจังหวัด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงส่งเสริมการปลูกกล้วยตานีในจ.นครพนม 12,000 ต้น ลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากภายนอก สร้างความมั่นคงในห่วงโซ่การผลิต เกิดชุมชนผู้ปลูกกล้วยตานี สร้างรายได้เสริมจากการขายใบตอง มีนักรวบรวมทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ผลิตกะละแม ช่วยให้การจัดหาวัตถุดิบมีประสิทธิภาพ
ทีมวิจัย ได้พัฒนาแบรนด์กะละแม 3 แบรนด์ย่อย มีอัตลักษณ์แตกต่างกันได้แก่ 1. กะละแมทูลใจ เน้นสร้างนวัตกรรม เช่น กะละแมรสขาวเม่า ไอศกรีมกะละแม พัฒนาร่วมกับร้านเบเกอรี่ 2. ตุ๊กตากะละแมโบราณ สร้างพันธมิตรกับร้านกาแฟ ร้านขนมหวาน และธุรกิจอาหาร ขยายช่องทางการจำหน่าย 3. ครูน้อยกะละแมกะทิสด แบรนด์ต้นตำรับ เป็นศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ กรรมวิธีการทำกะละแม ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ สืบสานวัฒนธรรมของจ,นครพนม
ผลักดันให้เกิดสมาคมการค้าผู้ประกอบการกะละแมโบราณนครพนม เป็นกลไกการบริหารจัดการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ขยายตลาด พัฒนาผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ เชื่อว่า การรวมกลุ่มกันของผู้ประกอบการจะทำให้เกิดพลังในการแข่งขันมากกว่าการแยกกันทำธุรกิจ
งานวิจัยนี้ ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อชุมชนหลายมิติ ด้านเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการกะละแมและเกษตรกรที่ปลูกกล้วยตานี รายได้ของกลุ่มผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 15–20 เปอร์เซ็นต์ มีการจดทะเบียนวิสาหกิจใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ เกิดอาชีพใหม่ในท้องถิ่น เช่น นักรวบรวมใบตอง เป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรกับโรงงานผลิตใบตองรีด มีผู้ประกอบการใบตองเกิดขึ้นใหม่ ชุมชนพึ่งพาวัตถุดิบในจังหวัด ลดการนำเข้าจากภายนอก ทั้งประสบความสำเร็จในเชิงวัฒนธรรม การยอมรับในระดับประเทศ
กะละแมโบราณนครพนมได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้รับเลือกให้เป็นสุดยอดเมนูอาหารถิ่นของจ.นครพนม มีการพัฒนาให้กะละแมเข้าสู่ตลาดพรีเมียม ด้วยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่เก็บได้นานขึ้น มีความสวยงาม เหมาะสำหรับเป็นของฝาก
"ไม่ได้แค่ทำกะละแมให้ดีขึ้น แต่กำลังสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับนครพนม เชื่อมโยงคน ชุมชน และตลาด สร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน ทำให้กะละแมโบราณนครพนมกลายเป็นสินค้าที่มีคุณค่า แข่งขันในตลาดได้ในระยะยาว" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมศักดิ์ กล่าว
“กะละแม” เป็นขนมโบราณที่สืบทอดกันมา รุ่นสู่รุ่นในจ.นครพนม ได้รับความนิยมในพื้นที่ แต่ไม่สามารถก้าวไปสู่ระดับประเทศและสากลได้
ข่าวอัพเดท

ปส.ร่วมเครือข่ายโลกเชื่อมระบบเฝ้าระวังนิวเคลียร์
วันศุกร์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568

ม.ฟาฏอนี พัฒนา AHSAN Trustmarkรับรองสินค้ามุสลิม
วันศุกร์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568

ไทยโกย25เหรียญทองสิ่งประดิษฐ์งานประกวดเจนีวา
วันพฤหัส ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2568

คนนับล้านชื่นชอบรถพาเหรดไทยของ “สวนนงนุช”ในงาน”เทศกาลดอกไม้“ระดับโลก
วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2568

เปิดไทม์ไลน์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 77 จังหวัดปี 2568
วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2568

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกสุดรอบปีคืนสงกรานต์
วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2568
