นักวิชาการเตือนอย่าประมาทสึนามิ

วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567

การดู : 90

นักวิชาการเตือนอย่าประมาทสึนามิ

แชร์ :

ฮับแผ่นดินไหวจับมือผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ รำลึก 20 ปีสึนามิ ร่วมมือทางวิชาการ เฟ้นมาตรการรับมือภัยพิบัติ ปรับระบบเตือนภัย ซักซ้อมอพยพ สร้างความปลอดภัยชุมชนพื้นที่เสี่ยง สว. กระตุ้นรัฐให้ความสำคัญ สร้างความตระหนักรู้ เตรียมพร้อม ลดผลกระทบสูญเสีย

หินที่โผล่ขึ้นในแหลมปะการังจากคลื่นสึนามิพัดขึ้นจากก้นทะเล

      ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานรำลึก 20 ปี ภัยพิบัติสึนามิ และประชุมสัมมนางานวิจัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย ครั้งที่ 2 ที่ จ.พังงา พร้อมกับนำคณะวิจัยอผู้เชี่ยวชาญทั้งของไทยและต่างประเทศ ลงพื้นที่รับฟังการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิ ครอบคลุมการวิจัยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ร่วมกิจกรรมเชิงปฏิบัติแก่นักเรียนด้วยเครื่องมือจริงและการเล่นเกมเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความตระหนักในความปลอดภัย สำรวจสถานที่สำคัญที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2547 ถอดบทเรียน หาแนวทางเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต สร้างความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาความปลอดภัยจากสึนามิ

น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าระดับนโยบายของไทยยังเน้นการเยียวยา ขาดการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาผลที่จะเกิดขึ้นผู้ประสบภัย ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของการเตรียมพร้อม ไทยจึงต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสึนามิ  ทั้งการตระหนักรู้ ป้องกัน เตือนภัย ซักซ้อมจริง จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนภัยพิบัติต่าง ๆ กับนักเรียน เพื่อไม่ให้ตระหนกตกใจจนสูญเสียการควบคุม

"อยากให้รัฐสภาย้ำกับระดับนโยบายให้เห็นผลจริงในการปฏิบัติ สนับสนุนการศึกษาพื้นที่เสี่ยงภัย ออกแบบก่อสร้างเมืองให้พร้อมรับมือ นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยป้องกัน จำลองการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งจะลดงบประมาณของประเทศได้มหาศาล ทำงานอย่างมีทิศทาง การบูรณาการการจัดการภัยพิบัติ  การทำผังเมือง จำเป็นต้องออกแบบให้พร้อมรับมือภัยพิบัติ ต้องพัฒนาบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ และให้นักวิจัยมาช่วยทำงาน"

ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติกล่าวว่าภัยสึนามิทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง ได้ศึกษาวิจัยและปรับปรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์วัดระดับน้ำทะเลและคลื่นสึนามิ การจำลองการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ รวมถึงนำมาตรการที่ได้ผลของต่างประเทศมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของไทย

          มีแนวโน้มว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และสึนามิขึ้นอีกในช่วงชีวิตของเรา รอยต่อแผ่นดินไหวอาระกันที่ยังไม่คลายพลังงาน อาจเกิดเหตุรุนแรงในหมู่เกาะอันดามันอีกครั้ง จึงไม่ควรประมาท ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ปรับปรุงระบบเตือนภัยให้เร็วขึ้น ให้รับรู้ได้ภายใน 20-30 นาที อพยพผู้คนได้ในเวลาอันสั้น

"มีหลายสิ่งที่เราไม่พร้อม เช่น ระบบเตือนภัย หลายพื้นที่อยู่ไกลจากหอเตือนภัย จึงไม่ได้ยินสัญญาณ ควรเปลี่ยนระบบการส่งข้อความจากวิทยุโทรทัศน์เป็นการส่งเข้ามือถือ ให้เข้าถึงผู้คนจำนวนมากอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกับในต่างประเทศ ต้องซักซ้อมอพยพเสมือนจริง มีศูนย์พักพิงที่เหมาะสม บางแห่งมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เช่น เขาหลัก เกาะพีพี จำต้องมีที่หลบภัยแนวดิ่งเป็นอาคารสูงที่แข็งแรง ขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น โรงแรม เพื่อขอความร่วมมือใช้พื้นที่ ทำป้ายนำทางแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เพียงพอ" ศ. ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง