ระดมสมองยกระดับระบบรางไทย
วันจันทร์ ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2567
การดู : 72
แชร์ :
4 องค์กรหลักด้านวิจัยและนวัตกรรม สกสว.,สภาพัฒน์,สศอ.และสภาอุตสาหกรรม จัดเสวนาชี้นำการพัฒนาภาคขนส่งทางราง กำหนดทิศทางวิจัยสร้างความสามารถทางคมนาคม ปลดล็อกโครงสร้างพื้นฐาน การแข่งขันเศรษฐกิจประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมระดมความเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชนและภาควิชาการ ในการเสวนา การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ครั้งที่ 8 : ระบบขนส่งทางรางในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อนำข้อมูลไปใช้วางแผน ออกแบบการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ขนส่งทางรางของไทย เมื่อวันที่8กค67
รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผอ. สกสว. กล่าวว่า สกสว. พร้อมด้วยอีก 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เห็นชอบร่วมกัน ที่จะส่งเสริม สนับสนุนการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) สอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมพ.ศ.2566 – 2570 ในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานนวัตกรรม จึงได้จัดกิจกรรมเวทีเสวนาในครั้งนี้ เพื่อการวางแผน ออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ผลักดันกลไกต่าง ๆ ที่จะยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ
นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าช่วงระหว่างปี 2561-2565 การขนส่งทางถนนเป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าในประเทศมากที่สุดร้อยละ 79.34 การขนส่งทางรางมีเพียงร้อยละ 1.85 ด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การขนส่งทางน้ำมีมากที่สุดถึงร้อยละ 88.17 ส่วนทางรางน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 0.11 ส.อ.ท. ได้ทดลองขนส่งสินค้าทางรางไปยังประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระยะทาง 13,911 กม. ใช้เวลา 70 วัน มากกว่าการขนส่งทางน้ำ 2 เท่า เนื่องจากติดปัญหาข้อกำหนด/กฎหมายการขนส่งสินค้าผ่านแดนแต่ละประเทศ สะท้อนถึงความท้าทายในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และระบบราง โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศ จึงควรแก้ไขปัญหาและลดอุปสรรคต่าง ๆ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม เชื่อมโยงกับการขนส่งรูปแบบอื่นอย่างสมบูรณ์ โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปลดล็อกกฎระเบียบและการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศ
ด้าน ดร.นคร จันทศร อดีตรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การวางแผนผังเมือง ทำให้ปรับเปลี่ยนได้ยาก ขณะที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย ไม่ลดลง เพราะยังคงใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลัก จึงแนะว่านอกจากจะเปลี่ยนศักยภาพแล้ว ต้องปรับทัศนคติองค์กรและปรับทัศนคติของคนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทำอย่างไรให้รูปแบบการขนส่งของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง
รศ. ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนา ววน. ด้านโลจิสติกส์และระบบราง สกสว. กล่าวว่าการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ 5 แนวทางหลัก ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย พ.ศ.2566 – 2570 ได้แก่ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 2.ยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน 3.พัฒนาพิธีการศุลกากรกระบวนการนำเข้า – ส่งออกที่เกี่ยวข้อง และอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ 4.พัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย 5.การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการพัฒนาบุคลากรและการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศในภาพรวม
“โจทย์วิจัยและข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ ประกอบด้วย 1.ผลักดันพระราชบัญญัติขนส่งทางราง เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับหน่วยงานภาครัฐได้ 2.โจทย์วิจัยที่เป็นข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย/กฎระเบียบ 3.โจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (Sustainability) 4.การผลักดัน(ร่าง)พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการต่าง ๆ ในการค้าขายระหว่างประเทศได้ โดยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และระบบราง พบปัญหาโจทย์วิจัยด้านปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางมีน้อย ทั้งการขนส่งสินค้าแบบขาเดียวหรือการวิ่งเปล่ากลับมา (Backhaul) การผลิตชิ้นส่วนทางราง ด้านผู้เชี่ยวชาญ ด้านการร่วมทุนและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ร่วมกับเอกชน และการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่ง ”
ทั้งนี้ แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ พ.ศ.2566-2570 ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และระบบรางของประเทศ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนพร้อมสู่อนาคตโดยใช้ ววน. ที่มุ่งให้ประเทศไทยมีระบบรางที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องรองรับการขยายตัวของระบบด้วยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ข่าวอัพเดท