วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568
การดู : 89

แชร์ :
ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติเผย กรุงเทพเมืองที่อ่อนไหวต่อแรงสะเทือนถูกล้อมด้วย 3 จุดเสี่ยงแผ่นดินไหวใหญ่ กาญจนบุรี 7-7.5 สะกาย 7.5-8 แนวมุดอาระกัน (Arakan) 8.5-9
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) จัดเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วช.เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผอ.ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) กล่าวถึงรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ตั้งอยู่ในประเทศเมียนมา มีศักยภาพก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย พื้นที่กรุงเทพมหานครมีความอ่อนไหวต่อแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว จากลักษณะทางธรณีวิทยาที่เป็นแอ่งดินอ่อนที่เพิ่มระดับความรุนแรงของการสั่นสะเทือนได้มากกว่าพื้นที่ที่มีชั้นดินแข็งถึงสามเท่า ประกอบกับกรุงเทพมหานครมีอาคารสูงจำนวนมาก จึงเสี่ยงต่อ “ปรากฏการณ์กำทอน” (resonance effect) อาจทำให้เกิดการโยกไหวที่รุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ ได้ประเมิน ความรุนแรงของการเกิดแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นกับกรุงเทพ มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
1.แผ่นดินไหวระดับ 7-7.5 ที่ จ.กาญจนบุรี
2.แผ่นดินไหว 7.5-8 ที่รอยเลื่อนสะกาย ที่ประเทศเมียนมา
3.แผ่นดินไหว 8.5-9 ที่แนวมุด อาระกัน (Arakan) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศเมียนมา และบางส่วนอยู่ในทะเล ซึ่ง 1 ใน 3 ของรูปแบบที่กล่าวมานั้นจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครเกิดความเสียหาย
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึง สถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ตามมาตราริกเตอร์ บริเวณรอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault) เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีค. 68 กระทบหลายจุดในกรุงเทพมหานคร หลายพื้นที่ในประเทศไทย อว. ได้นำทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP Robot มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แชมป์โลก 10 สมัย เข้าสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ บริเวณโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ถนนกำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. ที่พังถล่มลงมา มีผู้บาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวถึงการจัดเสวนา “วิจัยมีคำตอบ ลดตระหนก สร้างตระหนัก สู่ทางรอดภัยแผ่นดินไหว” ครั้งนี้ จากการที่ วช. สนับสนุนทุนวิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว เรื่องของรูปแบบการเกิดและผลกระทบจากแผ่นดินไหว การรับมือและการเตรียมความพร้อมในด้านวิศวกรรม เป็นต้น อีกทั้งได้ทำงานร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาสำหรับระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้น และร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยให้ความรู้บริการวิชาการแก่ประชาชนอีกด้วย
ข่าวอัพเดท

เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชี้3จุดสังเกตตึกถล่มเผชิญคลื่นแผ่นดินไหวดันดินอ่อน
วันเสาร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

2 ช่องทางขอตรวจอาคารแผ่นดินไหว กทม. – กรมโยธา
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมยินดี 61 ปีเดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนามาตรวิทยารังสีเพื่อความปลอดภัย
วันพฤหัส ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568
