เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568
การดู : 19

แชร์ :
กระทรวง อว.+สกสว.เผยระดมสรรพกำลัง นักวิจัย นวัตกรรมเทคโนโลยีร่วมสนับสนุนกู้ภัย รับผลกระทบแผ่นดินไหว เปิดงบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมุ่งเป้ารับมือสารพัดภัยพิบัติล่วงหน้า มีทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย ดาวเทียมเซนเซอร์วัดแผ่นดินไหวราคาประหยัด
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีค.68 กระทรวงได้ระดมสรรพกำลัง นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานในสังกัดนำผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย นำองค์ความรู้ทางวิชาการไปสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ บรรเทาความเดือดร้อน ฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และเปิดเผยด้วยว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้จัดทำแผนด้าน ววน. ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ แก้ไขปัญหาที่ท้าทายของไทย และจัดสรรงบประมาณสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบ ววน. เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว
ในการกู้ภัยอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ถล่ม ได้ส่งทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot (ไอ-แรป โรบอท) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และหุ่นยนต์ตรวจการณ์เก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR V.4 (ดี-เอ็มไพร์ เวอร์ชันโฟร์) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมกับจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือด้านการตรวจสอบอาคารและการแพทย์ (ศปก.อว.) ใช้ Traffy Fondue ให้ประชาชนแจ้งเหตุ เพื่อส่งทีมเข้าประเมินความเสี่ยงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวมีการแจ้งข้อมูลกว่า 5,000 กรณี ขณะที่ GISTDA ได้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม THEOS-2 ประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
สำหรับการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและนวัตกรรม ในแผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการบริหารจัดการภัยทางธรรมชาติแบบบูรณาการ ของกองทุน ววน. ได้จัดสรรงบประมาณ อาทิ
“InSpectra-01” เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การตรวจจับและวัดขนาดรอยร้าวโครงสร้างอย่างแม่นยำ รวดเร็ว ลดต้นทุนการตรวจสอบ เพิ่มประสิทธิภาพการประเมินความเสียหายของโครงสร้าง ด้วยระบบ Agentic.AI โดย รศ.ดร.พรหมพัฒน ธัญสิริชัยศรี ศูนย์วิจัยตรวจสอบโครงสร้างและเฝ้าระวัง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวราคาประหยัด” เซนเซอร์ตรวจวัดอาคารเป็นอุปกรณ์ที่วัดค่าความเร่ง สามารถวัดค่าความสั่นสะเทือนและแจ้งเตือนผ่านเซนเซอร์นี้ โดยลดต้นทุนการนำเข้าจากหลักแสน เหลือเพียงหลักหมื่นบาท ซึ่งติดตั้งไว้ที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทำให้ผู้ใช้ ซึ่งเป็นวิศวกรดูแลอาคาร ผู้บริหารโรงพยาบาลตัดสินใจความปลอดภัยของอาคารได้หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา
“หุ่นตรวจการและเก็บกู้วัตถุระเบิด รุ่น D-EMPIR V.4” ออกแบบสำหรับปฏิบัติงานเก็บกู้วัตถุระเบิด ซ่อมบำรุงได้ง่าย เมื่อเกิดความเสียหาย ในช่วงสถานการณ์วิกฤตหุ่นยนต์ D-EMPIR V.4 ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ ณ ถ.กำแพงเพชร เขตจตุจักร กทม. ที่มีผู้บาดเจ็บและสูญหายเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็ก คล่องตัวสูง ติดตั้งแขนกลพิเศษ เข้าที่แคบได้โดยใช้แขนกลหยิบจับสิ่งของ ปีนป่ายทางต่างระดับได้คล่อง โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI)
รมว.อว.กล่าวอีกว่า ได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดให้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ครอบคลุม 3 ด้านหลัก 1. พัฒนาระบบเตือนภัยในทุกมิติ แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ภัยแล้ง พร้อมระบบข้อมูลและการสื่อสารที่รวดเร็วและทั่วถึง 2. สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการจัดการภัยพิบัติ ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนในพื้นที่ 3. ส่งเสริมการเรียนรู้ ฝึกอบรมประชาชนให้มีความรู้และทักษะการรับมือ และสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน
ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ. สกสว. กล่าวว่า การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยนำ ววน. มาใช้รับมือภัยพิบัติ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ จัดสรรงบประมาณวิจัย: ภายใต้แผนงานเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตระดับประเทศ เช่น แผ่นดินไหวและภัยพิบัติทางธรรมชาติร่วมกับ สอวช. ทบทวนและยกระดับแผนด้าน ววน. ของประเทศ: เพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาท้าทายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสนับสนุนหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสาธารณภัย: เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์
สนับสนุนภารกิจด้านการสร้างความตระหนักรู้ การป้องกัน และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกระดับ: ทำให้ประชาชนมีความรู้และทักษะในการรับมือภัยพิบัติขับเคลื่อนบทบาทของ อว. และ สกสว. ให้เป็นกลไกลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน: เน้นย้ำเป้าหมายหลักคือการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ร่วมงานเครือข่ายกับต่างประเทศสร้างความรู้เชิงระบบเตือนภัยกับประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
นโยบายการจัดสรรงบประมาณวิจัยเพื่อรองรับภัยพิบัติ มีแผนงาน (P16) การพัฒนานโยบายและต้นแบบลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม (ววน.) แบ่งเป็นสองส่วนหลัก คือ “ภาคการเกษตร” รับมือผลกระทบจาก Climate Change ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระบบเตือนภัย ปรับปรุงพันธุ์และการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงภัยแล้ง การระบาดของแมลงและการกัดเซาะชายฝั่ง “ภาคเมืองและอุตสาหกรรม” การรับมือแผ่นดินไหว สึนามิ วาตภัย น้ำท่วม/น้ำแล้ง ภัยจากความร้อน ดินโคลนถล่ม คำนึงถึงผลกระทบต่อ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางน้ำและสุขภาพและสัตว์เศรษฐกิจ รวมถึงมีแผนงาน (P24) แก้ไขปัญหา ตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ทำให้มีความสามารถการจัดการและฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ (Resilience) มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านความรู้ กำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน.
ข่าวอัพเดท

มทร.ธัญบุรี นำ9 ราชมงคลร่วมใจ สืบสานวัฒนธรรมไทย
วันพุธ ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568

เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชี้3จุดสังเกตตึกถล่มเผชิญคลื่นแผ่นดินไหวดันดินอ่อน
วันเสาร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

2 ช่องทางขอตรวจอาคารแผ่นดินไหว กทม. – กรมโยธา
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมยินดี 61 ปีเดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568
