มจธ. แนะตรวจอาคารเบื้องต้น ลดเสี่ยงระยะยาว
วันพฤหัส ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2568
การดู : 525

แชร์ :
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีค. 68 แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคาร
โดยเฉพาะอาคารสูงที่มีผู้อยู่อาศัยและทำงานจำนวนมาก เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้จัดการอบรม“กรณีศึกษาจากการตรวจอาคารจากแผ่นดินไหว, ข้อกฎหมาย และแนวทางการตรวจสอบ” ให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบความเสียหายของอาคารเบื้องต้นหลังเกิดแผ่นดินไหว การใช้คู่มือการสำรวจความเสียหายที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดทำขึ้นในปี 2560
รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมด้านแผ่นดินไหว อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า อาคารที่ก่อสร้างตามมาตรฐานในปัจจุบัน ออกแบบ ก่อสร้าง ใช้งานถูกประเภท มีความปลอดภัยเพียงพอความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่น่าจะสร้างความเสียหายกับโครงสร้างของตัวอาคารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ หากจะมี อาจเกิดเล็กน้อยกับโครงสร้างหลัก หรือ เสียหายในงานสถาปัตยกรรม เช่น การแตกร้าวของผนัง การแตกร่อนของปูน หรือการแยกตัวของผนังจากเสา แม้ไม่อันตรายถึงขั้นอพยพ แต่ก็ควรได้รับการตรวจสอบและซ่อมแซมโดยเร็ว”
แต่อาคารที่สร้างมาก่อนปี 2550 ที่เริ่มประกาศใช้กฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารเพื่อรองรับแผ่นดินไหวอย่างเป็นทางการ หรืออาคารที่ไม่ได้ก่อสร้างตามมาตรฐานในปัจจุบัน ความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างหลักมีมากกว่า เพราะวัสดุและการออกแบบก่อสร้างที่ไม่ได้คิดถึงแรงสั่นสะเทือนในระดับเดียวกับปัจจุบัน อาจมีผลต่อความมั่นคงของอาคารในระยะยาว หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในอนาคต
สิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างแรกหลังแผ่นดินไหว คือ สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นของอาคารต่างๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ตัวอาคารที่ได้รับผลกระทบได้รับการแก้ไข ซ่อมแซมให้กลับมาแข็งแรงโดยเร็ว มั่นใจได้ว่ายังมีความปลอดภัยต่อการพักอาศัยหรือใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีกลุ่มวิศวกรอาสาเข้ามาช่วยตรวจสอบ ประเมินอาคารที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบอาคารในกรุงเทพและปริมณฑลกว่าหมื่นอาคารอย่างครบถ้วน
คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จัดทำโดย กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2560 ให้ข้อมูลวิธีการตรวจสอบอาคารประเภทต่างๆ เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปนำมาใช้ตรวจสอบความเสียหายของอาคารหรือห้องของตนในเบื้องต้นได้
รศ.ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มจธ. กล่าวว่า คู่มือเล่มนี้ ระบุจุดที่ควรสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น ใช้อุปกรณ์พื้นฐานอย่างตลับเมตร ไม้บรรทัด เครื่องวัดระดับน้ำ สำรวจตามจุดต่างๆ ตามที่คู่มือระบุไว้ จะประเมินเบื้องต้นได้ว่าโครงสร้างหลักของอาคารได้รับเสียหายหรือไม่ เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ลดภาระการตรวจสอบอาคารด้วยวิศวกรอาสาได้อย่างมาก หากสำรวจขั้นต้นแล้วไม่พบความเสี่ยง ก็ไม่ต้องสำรวจแบบละเอียดโดยวิศวกรโยธา ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร
รศ.ดร.ชัยณรงค์ กล่าวด้วยว่าการเป็นวิศวกรอาสาตรวจสอบอาคารสูงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา พบว่าความเสียหายในอาคารที่ตรวจเกือบทั้งหมดอยู่ในระดับสีเขียว
“ระดับสีเขียวหมายถึงเสียหายเล็กน้อย ไม่กระทบต่อการใช้งาน เช่น รอยร้าวบางจุดที่ผนัง หรือพื้นโก่งงอเล็กน้อย ยังไม่พบร่องรอยของความเสียหายที่โครงสร้างหลัก อย่าง เสา คาน หรือจุดต่อระหว่างองค์ประกอบหลักของอาคาร อาคารระดับสีเขียว ใช้งานได้ตามปกติหลังจากเคลียร์เศษวัสดุหรือผนังที่หลุดร่อนแล้ว แตกต่างจากอาคารระดับสีเหลือง ที่มีรอยแตกร้าวชัดเจนของโครงสร้าง หรือมีชิ้นส่วนที่อาจร่วงหล่นใส่ผู้ใช้งาน ซึ่งต้องห้ามใช้งานบางส่วนและตรวจสอบเชิงลึกเพิ่มเติม
แนวทางการเตรียมพร้อมหรือหลักปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทั้งระหว่างและหลังเกิดแผ่นดินไหวของประชาชนทั่วไป รศ.ดร.สุทัศน์ กล่าวว่า การออกแบบก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานปัจจุบัน ช่วยป้องกันหรือลดความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว หากเจ้าของโครงการให้ความสำคัญกับเรื่องแผ่นดินไหว ออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้อง ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ประชาชนในตึก เกิดความมั่นใจมากขึ้น ส่วนตึกหรืออาคารที่สร้างก่อนประกาศใช้กฎหมายควบคุมการออกแบบอาคาร พ.ศ.2550 ก็ให้วิศวกรมาตรวจสอบ ยืนยันความปลอดภัยอาคาร รวมถึงการเสริมแรงให้อาคารเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวและลมได้ดีขึ้น หากจำเป็น
ผู้ที่สนใจ ดาวน์โหลด คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ที่ https://shorturl.at/MclFd
ข่าวอัพเดท

นวัตกรชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม
วันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

สวทช. โชว์แพลตฟอร์ม LEAD EducationสอนAIได้ผล
วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

มรภ.อุตรดิตถ์ ดันข้อต่อใหม่ บ.มะขามสามเกลอสู่ตลาดมูลค่าสูง
วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เซ็นทรัล หาดใหญ่ จัดงาน “Hatyai Pride for All” ฉลองเดือนแห่งความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกเพศสภาพแสดงออกได้อย่างอิสระ
วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

โครงการเยาวชนไทยในสหรัฐฯ นำ 200 คน เยือนแผ่นดินแม่
วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568
