เปิดตัวหุ่นเสริมพลัง Exoskeleton Robotช่วยคนอัมพาตเดินได้

วันพฤหัส ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การดู : 216

เปิดตัวหุ่นเสริมพลัง Exoskeleton Robotช่วยคนอัมพาตเดินได้

แชร์ :

ทีมวิจัย 3 สถาบัน มทร.ธัญบุรี มรภ.สวนสุนันทา รพ.พระมงกุฎ และบริษัทเอกชน พัฒนาหุ่นยนต์เสริมพลังช่วยเดิน Exoskeleton Robot ฟื้นฟูผู้พิการโรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ใช้ฝึกกล้ามเนื้อ ฝึกเดิน ให้ดีขึ้น

รายงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) แจ้งว่า คณะวิจัย 3 สถาบัน ได้แก่ มทร.ธัญบุรี  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และบริษัท ที ดี เอส เทคโนโลยี (ประเทศไทย)  ร่วมกันวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้พิการ หุ่นยนต์เสริมพลัง RMUTT-Exoskeleton Robot  เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia) หรืออัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia)ฝึกเดินได้ด้วยอุปกรณ์ช่วยพยุง

คณะนักวิจัย ประกอบด้วย รศ. ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ มทร.ธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย รศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พล.ต.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี พล.ต.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และทีมงานผู้ช่วยนักวิจัย Dr.Padma Crisnapati, Dr.Komang Agus Aryanto จากสาขาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี    

พล.ต.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี  รศ.ดร.เบญจลักษณ์

พล.ต.ผศ.นพ.อารมย์ กล่าวว่า หุ่นยนต์เสริมพลัง จะช่วยผู้พิการที่ป่วยจากโรคหลอดเลือดสมอง การบาดเจ็บไขสันหลังหรือเส้นประสาท ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ใช้ฝึกเดินหรือฝึกกล้ามเนื้อทำให้ร่างกายฟื้นฟูเร็วขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงฝึกเดินเหมือนอยู่บนพื้นจริง ๆ กล้ามเนื้อเอว หลัง และสะโพกฟื้นตัว จะมีพัฒนาการดีขึ้น ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพทางร่างกายและกายภาพดีขึ้น

นักวิจัยร่วมทดสอบ

รศ.ดร.เดชฤทธิ์  กล่าวว่า หุ่นยนต์ RMUTT-Exoskeleton Robot พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ทำให้ใช้งานได้จริง โดยพัฒนา 2 แบบ คือ หุ่นยนต์อัมพาตครึ่งล่าง (Paraplegia) และหุ่นยนต์อัมพาตครึ่งซีก (Hemiplegia) โดยสร้างแบบจำลองด้วย Simulink ใน MATLAB เช่น การควบคุมมอเตอร์ การตรวจจับการเคลื่อนไหวของเซ็นเซอร์ การประมวลผลข้อมูลจากปัญญาประดิษฐ์  (AI)  เพิ่ม Simulink Blocks (โปรแกรมวิเคราะห์ทางวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง ) ที่จำเป็น เช่น Joint Actuators  Sensors และ Controllers ควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อสะโพก เข่า และข้อเท้า โดยระบบควบคุมการคลื่อนที่ประกอบด้วย ท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่าหยุด การออกแบบระบบควบคุม (Control System Design) สำหรับการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์โดยใช้ PID Control (Proportional-Integral-Derivative Control) ควบคุมมุมการเคลื่อนไหวของข้อต่อแต่ละจุด เช่น ควบคุมการหมุนของข้อต่อสะโพกเพื่อให้ขาก้าวเดินไปข้างหน้า เพิ่ม Adaptive Control ให้หุ่นยนต์ปรับตัวตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย เคลื่อนไหวตามวงรอบการเดินของมนุษย์ (Gait Analysis)

รศ. ดร.เบญจลักษณ์  กล่าวว่าได้ทดสอบเก็บข้อมูลกับกลุ่มทหารที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติราชการภาคสนาม และประชาชนที่เป็นอัมพาตทั่วไป เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานของหุ่นยนต์เสริมพลัง มีแผนจะผลิตเพื่อเด็กที่เป็นอัมพาต พล.ต.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล กล่าวเสริมว่า ในอนาคตจะใช้กับผู้ป่วยราชการสนาม ที่ได้รับบาดเจ็บและปลดประจำการให้ใช้อุปกรณ์นี้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หุ่นยนต์ช่วยเดินเป็นเทคโนโลยีราคาสูง มีใช้ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เพียงบางแห่ง บุคคลทั่วไปยากจะเข้าถึง การพัฒนาหุ่นยนต์เสริมพลัง Exoskeleton Robot ผลงานนักวิจัยไทย 3 สถาบัน และความร่วมมือของเอกชน เป็นสิ่งประดิษฐ์ทดแทนการนำเข้า ผู้สนใจสอบถามเพิ่มเติมที่ รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม โทร. 0868821475

ข่าวที่เกี่ยวข้อง