เหนือแรงไม่แผ่วเชียงรายเจอซ้ำน้ำป่าถล่มเวียงป่าเป้า

วันจันทร์ ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2567

การดู : 67

เหนือแรงไม่แผ่วเชียงรายเจอซ้ำน้ำป่าถล่มเวียงป่าเป้า

แชร์ :

ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนยังเสี่ยงอันตรายจากฝนหนักมากและฝนที่ตกสะสม เพราะร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงที่พาดผ่าน เจอหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกาะไหหลำ ผสมโรง เชียงรายเจอซ้ำน้ำป่าหลาก อ.เวียงป่าเป้า อีกจุดที่ อ.ห้างฉัตรลำปาง

สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ประเทศไทย รายงานผ่านเฟซบุ๊ก แจ้งว่า เวลา 02.00น. วันที่23กย67 เกิดน้ำป่าไหลหลาก หลายหมู่บ้าน  เขต อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีผู้ติดค้างหลายราย สมาคมกู้ภัยลำปางเข้าช่วยเหลือประชาชนติดอยู่ในรถที่มีกระแสน้ำเชี่ยว มีผู้ติดค้างภายในที่พักอาศัยหลายราย ออกยังจุดที่ปลอดภัย

สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติฯ แจ้งเพิ่มเติม ช่วงบ่ายวันเดียวกัน พื้นที่อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  โซนป่างิ้วทั้งหมด เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ได้แจ้งข่าวสารให้ อพยพสัตว์เลี้ยง ของมีค่า ขึ้นที่สูงหรือนำออกฝากเพื่อนบ้านที่น้ำไม่ท่วมโดยด่วน อย่ารอ น้ำกำลังขึ้นสูงเรื่อยๆ โดยย้ำไม่ให้ล่ามหรือขังสัตว์ไว้

สำนักงานประชาสัมพันธ์จ.เชียงราย แจ้งว่า นายพงศ์ศักดิ์ เพชรคงแก้ว นายอำเภอเวียงป่าเป้า รายงานจากพื้นที่ว่า ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และน้ำท่วมสูงบนถนน ทางหลวง 118 สายเชียงใหม่–เชียงราย 2 จุดใหญ่ คือบริเวณบ้านบวกขอน หมู่ 9 ต.แม่เจดีย์ใหม่ และหน้าโบสถ์คริสต์บ้านทรายมูล ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา ขณะรายงานช่วงเที่ยง ฝนหยุดตก แต่มีแนวโน้มระดับน้ำท่วมจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังมีฝนตกพื้นที่ต้นน้ำ เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว น้ำได้ล้นสปิลเวย์ (ทางระบายน้ำ)  เช่นเดียวกับเขื่อนดอยงู มีรายงานว่าน้ำได้ล้นสปิลเวย์ 50 ลบ.ม. ต่อวินาที

ในเวลาต่อมา นายอำเภอเวียงป่าเป้า แจ้งว่า ต.แม่เจดีย์ใหม่ น้ำลดลง ไหลลงมาสมทบน้ำป่างิ้ว เวียงกาหลง บ้านโป่ง และจะไหลลงมาในเขตต.เวียง ทางอ.เวียงป่าเป้า ได้ประกาศแจ้งประชาชนเตรียมความพร้อมก่อนหน้านี้แล้ว ผ่านหอกระจายข่าว ไลน์กลุ่มฯ และศูนย์วิทยุกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

บ่ายวันเดียวกันนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผวจ.เชียงราย ลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วมขังทางหลวง 118 บริเวณหน้าโบสถ์บ้านป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า สั่งการให้ฝ่ายปกครองประสานกับกู้ชีพกู้ภัยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยโดยด่วน

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกคำพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า เมื่อ17.00น.23กย67  ระบุ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนที่ตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและที่ลุ่ม

พยากรณ์อากาศแจ้งว่า เนื่องจากร่องมรสุมกำลังค่อนข้างแรงพาดพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย กับยังมีแนวพัดสอบของลมตะวันตกเฉียงใต้และลมฝ่ายตะวันออกบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และภาคใต้ตอนล่าง

รายงานจาก จ.เชียงใหม่ แจ้งว่า วันเดียวกัน เกิดน้ำป่าหลากอีกจุด โดยองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ดอนแก้ว อ.แม่ริม ออกประกาศด่วน เตือนภัยระดับ 4 น้ำป่าออกจากพื้นที่ แม่ริม,แม่แรม,แม่สา แล้ว ประกอบกับน้ำในห้วยตึงเฒ่าเริ่มสูง โดยระบว่า เวลา 11.20 น. อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ จึงประกาศยกระดับการเตือนภัย ระดับ 4 ภาวะเสี่ยงอันตรายสูงจากเหตุอุทกภัย ตั้งแต่เวลานี้เป็นต้นไป

เนื่องจากเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากบริเวณหลายจุดที่เชื่อมโยงมาถึงต.ดอนแก้ว ประกอบกับหลายแห่งรวมถึงในตำบลยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในระดับ 2 - 3

พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษในตำบลดอนแก้ว ประกอบด้วย

1. หมู่ที่ 2  2. หมู่ที่ 3  3. หมู่ที่ 4  4. หมู่ที่ 5  5. หมู่ที่ 7  6. บ้านพักสวัสดิการทหารบก

โดยความร่วมมือให้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมกระสอบทรายปิดจุดที่น้ำเคยเข้าถึง และปฏิบัติตามคำนะนำของ อบต.ดอนแก้ว และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ล่าสุดเทศบาลต.แม่แรม อ.แม่ริม แจ้งว่า เวลา 17.00 น.น้ำเริ่มลดลง แต่หลายหมู่บ้านยังท่วมขัง  ถนน แม่ขิ-ปางไฮ-ม่อนแจ่ม-สะเมิงเหนือ เปิดเส้นทาง สามารถสัญจรได้แล้ว

          พร้อมกับเปิดรับบริจาค ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ของใช้จำเป็นต่างๆ  เพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัย  โดยระบุว่า สถานการณ์พายุฝนตกต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน หลายหมู่บ้านในต.แม่แรม กับย้ำในตอนท้ายว่าปีนี้หนักจริงๆ

ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน  ดร.เอกภาพ  พลซื่อ  โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(ฝ่ายการเมือง) นายชูชาติ  รักจิตร  อธิบดีกรมชลประทาน  พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ เป็นข้อมูลการบริหารจัดการน้ำ

ที่ประชุมรับทราบข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงปลายเดือนกันยายนประเทศไทยยังคงมีฝน ส่วนมากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่าน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย พื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฝนรวมใกล้เคียงถึงมากกว่าค่าปกติ  จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการเก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด  ใช้ระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงกัน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชน

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล  อยู่ในสภาวะปกติ  ได้เตรียมรับมือ ด้วยการแขวนบานประตูระบายน้ำ พร่องน้ำในลำน้ำไว้รองรับปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ พร้อมเฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 53,859 ล้าน ลบ.ม. (71% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)  ยังรองรับน้ำได้อีก 22,479 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปริมาณน้ำรวมกัน 16,348 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังรองรับน้ำได้อีก 8,523 ล้าน ลบ.ม.  ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำสายหลัก จากฝนที่ตกด้านท้ายเขื่อน

สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณไหลผ่าน 1,290 ลบ.ม./วินาที  แนวโน้มเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์  ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาด้วยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,049 ลบ.ม./วินาที โดยจะพิจารณาปรับการระบายให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกเพิ่มในพื้นที่  เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด 

รายงานจากคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) ยังคงแจ้งเตือนเฝ้าระวัง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังในเขตเมือง จากฝนตกสะสมในช่วงที่ผ่านมา และฝนที่จะตกหนักต่อเนื่อง ช่วงวันที่ 23–25 ก.ย. 67 บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นจากฝนที่ตกหนัก ทำให้น้ำท่วมขัง โดยลำน้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ช้า บริเวณ จ.นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี   อีกจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ระดับน้ำแม่น้ำปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี บริเวณสถานี กบินทร์บุรี ต.กบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี มีแนวโน้มล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 23 – 24 ก.ย. 67

แม่น้ำสายหลักมีน้ำลันตลิ่งบริเวณ น้ำแม่ทา จ.ลำพูน น้ำแม่วาง น้ำแม่ขาน จ.เชียงใหม่ แม่น้ำวัง จ.ลำปาง แม่น้ำอิง จ.พะเยา แม่น้ำยม จ.พิษณุโลก แม่น้ำลาว จ.เชียงราย แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์  แม่น้ำวัง จ.ตาก แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูนและลำน้ำยาม จ.สกลนคร ห้วยหลวง จ.อุดรธานี ห้วยปากแซง จ.อุบลราชธานี ลำน้ำก่ำ จ.นครพนม ลำเชิญ จ.ชัยภูมิ ลำเชิญ จ.ขอนแก่น แม่น้ำชี จ.มหาสารคาม ลำเซบาย จ.ยโสธร คลองบางกะเจ้าและแม่น้ำเจ้าพระยา จ.สมุทรปราการ แม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม คลองยวนปลา จ.ตรัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง