KOSEN KMUTT ปั้นคนป้อนอุตสาหกรรมอนาคต
วันอาทิตย์ ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2567
การดู : 70
แชร์ :
KOSEN โครงการร่วม มจธ.-ไจก้า ปั้นหลักสูตรสนองอุตสาหกรรมอนาคตวิศวกรรมอัตโนมัติ,Bio Engineering และSMART Agri Engineering ส่งฝึกปฏิบัติงานจริงกับโรงงานผลิต มุ่งให้ออกไปเป็นบุคลากรเชี่ยวชาญสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 67 นางคาวามูระ มากิ ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และนายซัทชึยะ ซูซูกิ ผอ. JICA Thailand Office พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน ชมความก้าวหน้าของโครงการKOSEN Thailand ODA Press Tour ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) (บางขุนเทียน) ในโอกาสฉลองความร่วมมือ 70 ปี ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) ระหว่างไทยและญี่ปุ่น
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการ KOSEN KMUTT เป็นการพัฒนาระบบการศึกษาในการเตรียมคนสำหรับความต้องการในอนาคต นักเรียนนอกจากความรู้เชิงวิชาการจะมีทักษะที่ปรับใช้ในสถานการณ์จริงได้
ดร.ก้องกาญจน์ วชิรพนัง ผอ.สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ กล่าวว่า โครงการ KOSEN KMUTTสร้างบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์ ประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์จริง หลักสูตรของ KOSEN KMUTT ผสมผสานการเรียนรู้จากหลากหลายสาขาวิชา เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และวิศวกรรมศาสตร์ นำระบบ Project-Based Learning มาให้เรียนรู้ ด้วยการทำโครงการที่เชื่อมโยงกับปัญหาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ 3 หลักสูตร คือ 1.วิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation Engineering) 2.หลักสูตร Bio Engineering 3. SMART Agri Engineering
"เราตอบสนองอุตสาหกรรมในอนาคตได้จริง ไม่ใช่แค่สอนทฤษฎี ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้วิธีคิด วิธีแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของประเทศและภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างความท้าทาย คือไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ต้องการบุคลากรเชี่ยวชาญกระบวนการชีวภาพ เพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงมีหลักสูตรวิศวกรรมชีวภาพ (Bio Engineering) แปรรูปทรัพยากรชีวภาพเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ชีวเภสัชภัณฑ์ ยาชีววัตถุ และสารตั้งต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
หลักสูตร SMART Agri Engineering ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรตอบสนองประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความต้องการอาหารรูปแบบใหม่ เรียนรู้ผสมผสานทั้งศาสตร์การเพาะปลูก การผลิตพืช ควบคู่กับวิศวกรรมศาสตร์ การใช้ระบบอัตโนมัติ วิทยาศาสตร์ข้อมูล สร้างผลผลิตมูลค่าสูง อาหารเฉพาะกลุ่ม ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมความรู้และทรัพยากรวิจัย “เชื่อว่าหลักสูตรเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ประเทศไทยแข่งขันในระดับโลกได้ " ดร.ก้องกาญจน์
จุดเด่นของโครงการ คือการฝึกงานที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง นักเรียนจะได้เรียนรู้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม (Work Integrated Learning, WiL) ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4-6 เดือน ภายใต้การดูแลจากอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทต่าง ๆ
นายซัทชึยะ ซูซูกิ กล่าวว่า ตลอดเวลากว่า 4 ปีของโครงการนี้ ได้สร้างนักศึกษาที่มีความรู้และทักษะที่ยอดเยี่ยม ความร่วมมือนี้มีผลลัพธ์ที่น่าภาคภูมิใจ เป็นแรงบันดาลใจที่สะท้อนการทำงานร่วมกันระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้านนางคาวามูระ มากิ กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยยกระดับมาตรฐานการศึกษาในไทย และเสริมสร้างสายสัมพันธ์ยั่งยืนระหว่างไทย-ญี่ปุ่นให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
โครงการโคเซ็น มจธ.(KOSEN KMUTT) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 ด้วยความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (JICA Thailand Office) เพื่อผลิตวิศวกร นักเทคโนโลยี และนวัตกรสำหรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ เกิดจากแรงบันดาลของระบบการศึกษาญี่ปุ่น ที่สร้างบุคลากรเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ
ข่าวอัพเดท