W9แนะสูตรต้านโรคจากPM2.5ออกกำลังกินผักสดกลิ่นฉุน
วันเสาร์ ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
การดู : 134
แชร์ :
W9 Wellness Center เผยฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยเงียบสะสม แนะป้องกัน-ดูแลสุขภาพเชิงเวลเนส เปิดสูตรเร่งการขับสารพิษ เสริมเกราะภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง แค่กินผัก ออกกำลัง นอนให้หลับสนิท
นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฎ์ แพทย์ผู้อำนวยการ W9 Wellness Center กล่าวว่า ประชากรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญศึกหนักกับมลภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 สารโลหะขนาดเล็กที่ลอยปนเปื้อนในอากาศครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นภัยเงียบร้ายแรง แนวทางป้องกันและรับมือกับฝุ่นพิษ PM 2.5 นอกเหนือจากคำแนะนำเบื้องต้น คือการลดกิจกรรมนอกบ้านในวันที่ฝุ่น PM 2.5 สูง การใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเน้นการดูแลสุขภาพเชิงเวลเนสที่เน้นป้องกันจากภายในสู่ภายนอก ด้วย 3 มาตรการดูแลสุขภาพ ดังนี้
1. เร่งขับสารพิษ ด้วยระบบดีท็อกซ์ของร่างกาย โดยเลือกรับประทานอาหารกลุ่ม ผักใบเขียวเข้ม หรือผักสีเขียวปั่นรวมกาก อาหารที่มีแร่ธาตุซัลเฟอร์สูง หรือผักที่มีสารกลูต้าไธโอนปริมาณสูง ผักที่มีกลิ่นฉุน เช่น ต้นหอม กระเทียม ผักชี ขึ้นฉ่าย กุยช่าย เป็นต้น ช่วยเพิ่มสารกลูต้าไธโอน สารต้านอนุมูลอิสระหลักในระบบดีท็อกซ์ของตับ ช่วยกระตุ้นระบบขับสารพิษหลักของร่างกายได้
2. ป้องกันและลดการทำลายเซลล์ โดยเพิ่มอาหารที่ต้านอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 เช่น สารโฟเลต ด้วยผักผลไม้สด แคโรทีนอยด์ในผักตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ไลโคปีนในมะเขือเทศ และผักผลไม้สีแดง แอนโทไซยานินในผักเคล ผลไม้กลุ่มเบอร์รี่ สารเควอซิตินในหัวหอม คะน้า หรือแอปเปิล และสารคาเทชินในชาเขียว เป็นต้น เพื่อเพิ่มความอิ่มตัวของสารต้านอนุมูลอิสระในเนื้อเยื่อของร่างกาย ป้องกันและลดการทำลายเซลล์
3. เสริมเกราะระบบภูมิต้านทาน โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานวิตามินและแร่ธาตุที่เป็นตัวช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิต้านทาน ได้แก่ แร่ธาตุสังกะสี แร่ธาตุทองแดง วิตามินดี วิตามินซี และ N-acetyl cysteine ที่ช่วยเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาว ป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อ เสริมเกราะระบบภูมิต้านทานทั้งระบบได้ การบริหารจัดการความเครียด และการนอนหลับลึกที่เพียงพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็มีความจำเป็นในการซ่อมแซมและฟื้นฟูการทำงานของระบบภูมิต้านทานด้วยเช่นกัน
นพ.พิจักษณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อมีสารพิษสะสมมาก ร่างกายจะพยายามลดพิษในเลือด โดยนำสารพิษออกจากระบบเลือด ไปสะสมในเนื้อเยื่ออื่นของร่างกาย เช่น เนื้อเยื่อไขมัน กระดูก หรือกล้ามเนื้อ อาจไม่แสดงอาการของพิษเฉียบพลัน แต่ส่งผลในระยะยาว ทำให้เกิดอาการผิดปกติเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว สามารถตรวจสัญญาณที่บอกอาการผิดปกติได้เบื้องต้น จาก 7 อาการ ดังนี้ 1.อ่อนเพลียเรื้อรัง ไม่สดชื่น 2. นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท 3. รู้สึกสมองล้า คิดช้า โฟกัสงานไม่ค่อยดี ขี้ลืม 4. ลดน้ำหนักยาก เนื่องจากโลหะหนักจะไปรบกวนระบบเผาผลาญ 5. ควบคุมอารมณ์ยากขึ้น 6. ป่วยติดเชื้อง่าย ไอหรือเป็นหวัดบ่อย 7. เป็นผื่นแพ้ หรือลมพิษ บ่อยขึ้น
ฝุ่นพิษ PM 2.5 คือภัยเงียบ กระตุ้นการเกิดโรคร้าย ใน 5 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. ผู้ที่สูบบุหรี่ ฝุ่น PM 2.5 เร่งการเกิดโรคถุงลมโป่งพอง และเป็นหนึ่งในสารก่อมะเร็งปอด แม้คนทั่วไปก็เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดถึง 1.4 เท่า สำหรับคนสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงเป็น 2 เท่า 2. ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ จะไวต่อการกระตุ้นจากฝุ่น PM 2.5 หรือสารก่อภูมิแพ้ ทำให้สมรรถภาพปอดลดลง และเกิดอาการหอบหืดกำเริบ 3. ผู้มีความเสี่ยงสูงหรือเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด PM 2.5 จะเพิ่มอัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ภาวะหลอดเลือดแข็ง ส่งผลให้หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เกิดอาการหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออัมพฤกษ์ อัมพาตได้ 4. ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็ง ฝุ่น PM 2.5 ถือเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความร้ายแรง อาทิ โพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโครคาร์บอน และโลหะหนักบางชนิด ที่จะเข้าไปทำลาย DNA RNA ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ เกิดเป็นเซลล์มะเร็ง 5. ผู้ที่ระบบภูมิต้านทานต่ำ หรือไม่สมบูรณ์ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงฝุ่นขนาดเล็ก ที่สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันร่างกายได้โดยตรง ทำให้โอกาสติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นได้
ดูแลสุขภาพเชิงเชิงเวลเนส พร้อมรับคำปรึกษา วางแผนการดูแลสุขภาพร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม หนึ่งทางเลือกที่ช่วยเสริมวิธีการข้างต้นมีให้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกับ W9 และ W Ploenchit Wellness Center ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม https://w9wellness.com/th/
ข่าวอัพเดท