แจงผลวิจัยสารหนูพบปลาแค้แม่น้ำกกมีโลหะปนเปื้อน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
การดู : 13

แชร์ :
สกสว.รายงานผลวิจัยความเสี่ยงแม่น้ำกก ด้วยนิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ยันสารหนูเกินมาตรฐาน 70% จากเหมืองแร่หายาก 30% จากเหมืองทอง แต่ปลา ผักยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รมช.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ชมนวัตกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง เสริมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลเจรจาข้ามพรมแดนแก้ต้นเหตุปัญหา
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร และจังหวัดเชียงราย จัดประชุมหารือผลและการแปลผลนิติวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจัดการความเสี่ยงการปนเปื้อนสารหนู (Arsenic) ในแม่น้ำกกอันเนื่องมาจากมลพิษข้ามพรมแดน เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 โดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มท.) เข้าร่วม พร้อมด้วยนายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ. สกสว. และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร
รศ. ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ ผอ.หน่วยภารกิจฐานข้อมูลและระบบดิจิทัล สกสว. และคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอผลการวิจัยด้วยกระบวนการ นิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีข้อสรุปว่า 1) แม่น้ำกกปนเปื้อนสารหนูเกินค่ามาตรฐาน มีแหล่งกำเนิดการปนเปื้อนจากเหมืองแร่หายากประมาณ 70% จากเหมืองทองคำในประเทศเมียนมา 30% 2) สถานการณ์ความปลอดภัยปัจจุบัน โดยปริมาณโลหะและกึ่งโลหะในน้ำใต้ดินระดับตื้น พืชผักที่ปลูกโดยใช้น้ำจากแม่น้ำกก และเนื้อปลายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ปลอดภัยสำหรับการบริโภค แต่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง 3) ผลกระทบต่อระบบนิเวศ ปรากฏการณ์ปลาแค้ป่วย จากการติดเชื้อไวรัส และ ปรสิตอย่างผิดปกตินั้น สัมพันธ์กับการรับสัมผัสโลหะและกึ่งโลหะปนเปื้อนในน้ำ
โดยมลพิษในแม่น้ำกกทำให้ปลาแค้อ่อนแอ ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ถือเป็น ตัวชี้วัดทางชีวภาพสำคัญ ที่เตือนให้แก้ปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกกอย่างเร่งด่วน ข่าวแจ้งว่า สกสว. ได้เสนอระบบวิทยาศาสตร์พลเมือง เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์มีเซนเซอร์เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ 24/7 มีระบบให้ประชาชนรายงานสิ่งผิดปกติที่ทำให้เกิดความกังวล หรือ สอบถามผลการตรวจสิ่งแวดล้อม และคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ผ่านระบบ AI ที่ฝึกฝนโดยภาคีนักวิจัยในกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เสนอความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยระบุว่าปัญหามีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน ต้องอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขอย่างยั่งยืน โดยได้ให้โจทย์การวิจัยเพิ่มเติมแก่ สกสว. ได้แก่ การวิจัยเชิงลึกด้านดิน ขอให้สำรวจและวิเคราะห์ดินตลอดแนวตลิ่งแม่น้ำกกในฝั่งไทยระยะทาง 130 กิโลเมตร เพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีแหล่งกำเนิดสารหนูจากดินในประเทศ ซึ่งจะเสริมน้ำหนักของข้อมูลการเจรจาระหว่างประเทศ และการวิจัยด้านอุตสาหกรรม โดยตรวจสอบโรงงานริมแม่น้ำกก เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนในการปล่อยสารปนเปื้อน จะเป็นการช่วยระบุต้นตอปัญหาได้แม่นยำยิ่งขึ้น กับเสนอแนวทางระยะสั้น เช่น สร้างฝายชั่วคราวชะลอการไหลของน้ำและดักจับตะกอน
น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มท. ได้กล่าวว่าแนวคิดนวัตกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) ที่เสริมด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยให้ประชาชนตรวจสอบ เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำกกได้เองอย่างมีประสิทธิภาพ ทันท่วงที ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่แม่นยำเหล่านี้จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการสื่อสารกับประชาชนและการเจรจาต่อรองกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดนที่ต้นเหตุ ทั้งได้เสนอแนะการขยายผลการวิจัยสู่การนำไปใช้จริงในระดับพื้นที่ การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ
ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผอ. สกสว. กล่าวว่า เวทีนี้จะสร้างความร่วมมือในการนำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เพื่อการทำงานร่วมกันและการแก้ไขปัญหาของประเทศ สกสว. มีแผนจะต่อยอดพัฒนาระบบเซ็นเซอร์อัจฉริยะ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ตรวจสอบ ป้องกันผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว
#แม่น้ำกก #สารหนู #มลพิษข้ามพรมแดน #วิทยาศาสตร์พลเมือง #AI #สกสว. #สิ่งแวดล้อม
ข่าวอัพเดท

แจงผลวิจัยสารหนูพบปลาแค้แม่น้ำกกมีโลหะปนเปื้อน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

จันทบุรีผนึกภาครัฐ-เอกชน สร้างพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เจริญนครอุ่นใจ สปสช.จัดคลินิก 30บาทรักษาทุกที่กลางชุมชน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เริ่มแล้ว!! มหกรรมสินค้าไอทีกลางปี COMMART UNLIMIT
วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนวิถีชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน
วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ทีมวิจัยระดมทีมเฝ้าระวังน้ำท่วมเชียงราย-น่าน
วันพฤหัส ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
