ชาวใต้โหวตให้เร่งแก้ขยะ ทะเล น้ำเสีย

วันพุธ ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

การดู : 154

ชาวใต้โหวตให้เร่งแก้ขยะ ทะเล น้ำเสีย

แชร์ :

SDG Move จัดเวทีระดมสมองความต้องการพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อการพัฒนายั่งยืน ภาครัฐ-ประชาชนเห็นพ้องขยะ- ทรัพยากรทางทะเล-น้ำเสียเป็นปัญหาร่วมที่ต้องเร่งเเก้

ผศ.ชล บุนนาค ผอ.ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ คณะทำงานระดับภาคใต้ตอนบน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการนำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคใต้ตอนบน) ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ภายใต้โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ปีที่ 3 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านการขับเคลื่อนของกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม มี ศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เสนอบทบาทของมหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ การดำเนินงานอย่างครอบคลุมโดยคำนึงถึงบริบทพื้นที่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อมทั้งระบบนิเวศบนบกและทรัพยากรทางทะเล

ทีม SDG Move นำเสนอประเด็นความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคแก่พื้นที่ ภาคใต้ตอนบนมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกันที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งสิ้น 6 เป้าหมาย ได้แก่ SDG 2 ขจัดความหิวโหย SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG 17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัญหาร่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนพบที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ ปัญหาขยะและของเสียทุกชนิดที่เพิ่มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบที่มีแนวโน้มลดลง การบริหารจัดการน้ำเสียในเชิงพื้นที่ ยาเสพติด คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การจัดการศึกษาไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ทางออกต้องอาศัยงานวิจัยการจัดการขยะ สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การศึกษาวิจัยระบบนิเวศของทะเล สร้างความเข้าใจผลกระทบ การวางแผนจัดการน้ำแบบครบวงจร นำความรู้จากงานวิจัยไปใช้ในกำหนดนโยบาย งานวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหายาเสพติดสู่การกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาที่เข้มแข็งและเหมาะสมกับพื้นที่ การศึกษาวิจัยเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างเป็นองค์รวม และสร้างนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทเพื่อตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน

อ.นันทินี มาลานนท์ รองผอ. SDG Move สะท้อนประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อน ววน. เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคใต้ตอนบน นำเสนอผลการประชุมระดมความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีภาคีที่เกี่ยวข้องนำโดย น.ส.แคทรียา ปทุมรส รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของพื้นที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและ SDG Move โดยนำข้อมูลที่ได้จะนำไปจัดทำรายงานผลการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ Voluntary National Review: (VNR) ของไทยฉบับปี ค.ศ. 2025  

” ผศ.ชล กล่าวว่าศูนย์ฯ จะจัดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับสถานการณ์ความท้าทายและความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ เพื่อติดตามความคิดเห็นจากทั้งหมด 6 ภูมิภาค แล้วนำข้อมูลมาพัฒนากลไก ววน. เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาค นำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณในอนาคตที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นมากขึ้น

ข่าวอัพเดท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง