นักประดิษฐ์ไทยก้าวสู่ผู้นำวิทยาศาสตร์นวัตกรรมโลก!
วันพุธ ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2567
การดู : 58
แชร์ :
ยินดีกับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย ต้นปีงบ 68 แค่ 3 เดือน กวาดรางวัลนานาชาติแล้วกว่า 250 ผลงาน ‘ศุภมาส’ รัฐมนตรี อว. มอบประกาศนียบัตร ยกเป็นศักยภาพ ความพร้อมของประเทศก้าวสู่ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเวทีโลก
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีกับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยที่ชนะรางวัลจากเวทีนานาชาติ (Internationally Outstanding Inventors Awards Ceremony) โดย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 67
ข่าวแจ้งว่า ต้นปีงบประมาณ 2568 นักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย คว้ารางวัลรวมกว่า 259 ผลงานจาก 8 เวทีนานาชาติ ประกอบด้วย
1. เวที The 18th International Warsaw Invention Show (IWIS 2024) กรุงวอร์ซอ สาธารณรัฐโปแลนด์
2. เวที Taiwan Innotech Expo 2024 (TIE 2024) ไทเป ไต้หวัน
3. เวที The International Trade Fair, Ideas, Inventions, and New Products (iENA 2024) เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี
4. เวที Innoweek 2024 กรุงทาชเคนต์ สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน
5. เวที EURO POLITEHNICUS 2024 กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนีย
6. เวที 2024 Seoul International Invention Fair (SIIF 2024) กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
7. เวที The 4th Asia Exhibition of Innovations and Inventions Hong Kong (AEII 2024) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
8. เวที 2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO (KIDE 2024) เมืองเกาสง ไต้หวัน
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า ความสำเร็จของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในเวทีระดับนานาชาติ สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน แสดงถึงศักยภาพ ความพร้อมของประเทศในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเวทีโลก อว. จะสนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพของนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทยอย่างต่อเนื่อง พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี ตอบโจทย์ความต้องการทั้งในประเทศและสังคมโลก ผลักดันความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศ เพื่อใหนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยก้าวไกลระดับนานาชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ..สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กว่า 10 ปีที่ วช. ส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติ โดยได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรด้านการประดิษฐ์ระดับนานาชาติหลายองค์กร อาทิ International Federation of Inventors' Associations (IFIA), World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA), และ Korea Invention Promotion Association (KIPA) เป็นต้น ทำหน้าที่รับสมัคร พิจารณาและคัดกรองผลงานเพื่อเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติในนามประเทศไทย มีเป้าหมายหลักคือเพิ่มโอกาสการเผยแพร่ผลงานของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยให้ได้รับการยอมรับในเวทีระดับนานาชาติ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคใหม่ ๆ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและคุณภาพ แข่งขันได้ในตลาดโลก วช. มุ่งมั่นจะสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย การแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับโลก ซึ่งจะช่วยพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกอย่างยั่งยืน
ข่าวอัพเดท