นักวิจัยนาโนคว้านักเทคโนฯดีเด่น67
วันอาทิตย์ ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 154

แชร์ :
ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ นักเทคโนโลยีดีเด่นปี 67 ผลงานกระบวนการผลิตเข็มไมครอนแบบรวดเร็ว เผยเป็นตัวเปลี่ยนวงการแพทย์ เจาะชั้นผิวหนังโดยไม่เจ็บ ไม่มีแผล ช่วยคนกลัวเข็มได้
รายงานข่าวจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) แจ้งว่า นักวิจัยนาโนเทค ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2567จากผลงานวิจัยเรื่องกระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่วนนักวิจัย สวทช. ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 อีก 1 ราย คือ ดร.อัญชลี มโนนุกุล จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. ผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์
ดร.ไพศาล กล่าวว่า ไมโครนีดเดิล หรือเข็มขนาดไมโครเมตร เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงวงการแพทย์และการดูแลสุขภาพอย่างกว้างขวาง เข็มมีขนาดเพียงหนึ่งในสิบของเส้นผมมนุษย์ ปลายเข็มเล็กมาก เจาะผ่านชั้นผิวหนังเพื่อส่งสารสำคัญได้โดยไม่เจ็บปวด ไม่ทำให้เกิดบาดแผล หรือทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้บนผิวหนัง การพัฒนาไมโครนีดเดิลเป็นนวัตกรรมตอบสนองความต้องการของวงการแพทย์และความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการหลีกเลี่ยงเข็มฉีดยาดั้งเดิม เช่น ผู้ที่กลัวเข็ม หรือผู้ที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนหรือยาบ่อยครั้ง แต่อุปสรรคที่ทำให้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมได้ยากคือกระบวนการผลิตปัจจุบัน ซึ่งมีความซับซ้อน ต้นทุนสูง การผลิตเข็มขนาดเล็กจำนวนมากอย่างรวดเร็ว มีความแม่นยำระดับไมโครเมตร การแก้ปัญหาการผลิตเป็นจุดเปลี่ยนในการนำเทคโนโลยีไมโครนีดเดิลสู่การใช้งานจริง
ผลงานวิจัยกระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนแบบรวดเร็วและปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับกระบวนการผลิตไมโครนีดเดิลให้เร็วขึ้น ผลิตได้ในปริมาณมากขึ้น ปรับแต่งคุณสมบัติของเข็มได้ตามต้องการ เทคโนโลยีการผลิตใหม่นี้ช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิตมากขึ้น 25 เท่าของวิธีการเดิม ปรับแต่งรูปร่างของเข็ม ขนาด ความยาว จำนวนเข็มต่อพื้นที่ และคุณสมบัติอื่น ๆ อย่างยืดหยุ่น ทำให้ออกแบบไมโครนีดเดิลที่เหมาะสมกับการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การนำส่งยาแก้ปวด สารบำรุงผิว คลื่นแสงหรือคลื่นไฟฟ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือแม้กระทั่งการใช้ไมโครนีดเดิลเพื่อวัดค่าทางชีวภาพในร่างกายของผู้ป่วยได้ เป็นมิตรกับการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ช่วยให้ผลิตปริมาณมากได้ในเวลาอันสั้น พร้อมทั้งมีคุณภาพสูงและผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 มาตรฐานสากลสำหรับเครื่องมือแพทย์
นวัตกรรมที่โดดเด่นของเทคโนโลยีไมโครนีดเดิล คือไมโครสไปก์เทคโนโลยี เป็นเทคโนโลยีการผลิตไมโครนีดเดิลบนแผ่นวัสดุ ไมโครสไปก์เทคโนโลยีนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาทิ แผ่นไมโครนีดเดิล สำหรับนำส่งยาแก้ปวด แผ่นลดเลือนริ้วรอย หรืออุปกรณ์นำส่งสารบำรุงผิว ที่ส่งสารผ่านผิวหนังโดยไม่ทำให้เจ็บปวด ไม่ทิ้งร่องรอยบนผิวหนัง มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต เช่น การตรวจวัดสารชีวภาพภายในร่างกาย หรือนำส่งวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย
ดร.อัญชลี มโนนุกุล จากทีมวิจัยโลหะผสมและการผลิตอัจฉริยะ กลุ่มวิจัยกระบวนการทางวัสดุและการผลิตอัตโนมัติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. กล่าวว่า ผลงานวิจัยเรื่อง โครงการกระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมบริสุทธิ์แบบเซลล์เปิดโดยใช้กระบวนการชุบสารแขวนลอย บนต้นแบบโฟมพอลิเมอร์และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตเชิงพาณิชย์ เป็นการต่อยอดผลงานวิจัยของเอ็มเทคเอง สู่โครงการร่วมวิจัยระหว่างเอ็มเทคและบริษัท ไทเซ โคเกียว (ประเทศไทย) จำกัด
แผ่นหรือก้อนไทเทเนียม เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับเครื่องทำน้ำด่าง โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น ในอดีตใช้แผ่นไทเทเนียมที่เจาะรูจำนวนมากมาต่อกัน เนื่องจากแผ่นไทเทเนียมมีพื้นที่จำเพาะต่ำ ทำให้อัตราการทำปฏิกิริยาต่ำ และการผลิตที่ควบคุมไม่ดี ทำให้ชิ้นงานเปราะ เป็นโจทย์วิจัยในการพัฒนากระบวนการผลิตโฟมไทเทเนียมที่ลดการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิตและผลิตได้จริง
จุดเด่นของการวิจัยและพัฒนานี้คือ การคัดเลือกสารเพิ่มความหนืดและต้นแบบที่เหมาะสม ไม่ปนเปื้อนกับไทเทเนียม, การควบคุมกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตโฟมไทเทเนียมที่คงรูป มีรูพรุนสม่ำเสมอ และมีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี, การปรับกระบวนการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับประลองและการผลิตเชิงพาณิชย์ กระบวนการผลิตต้องไม่ปล่อยมลภาวะเป็นพิษ ปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
ขณะเดียวกัน ศักยภาพของทีมวิจัยทำให้เอ็มเทคเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกด้านการเผาผนึกผงไทเทเนียม เป็นกระบวนการที่ยากและซับซ้อนมากที่สุด มีผลงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเผาผนึกไทเทเนียมสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผงในปี พ.ศ. 2547 สู่โรงงานสาธิตเทคโนโลยีการฉีดขึ้นรูปโลหะผงแบบครบวงจรแห่งแรกและยังเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย มี ดร.อัญชลี มโนนุกุล เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการฯ ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน
ข่าวอัพเดท

เดินหน้าวิจัยแก้ไขPM2.5 ท่วมแล้ง เชียงใหม่ ลำพูน
วันอังคาร ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

แนะไทยปรับตัวสู่นักวางกลยุทธ์ AI ไม่ใช่แค่ผู้ใช้
วันอังคาร ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

AI PC กระตุ้นยอดโน้ตบุ๊กสูงสุดงาน COMMART UNLIMIT 2025
วันอาทิตย์ ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

โคราช-ศรีสะเกษ ผงาด! เจ้าภาพอวดเมืองนำร่อง 2569
วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
