3นศ.ปี4 มจธ.คิดนวัตกรรม HYSCต้านแผ่นดินไหวตึกไม่พัง

วันศุกร์ ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2568

การดู : 87

3นศ.ปี4 มจธ.คิดนวัตกรรม HYSCต้านแผ่นดินไหวตึกไม่พัง

แชร์ :

นักศึกษา มจธ. คิดค้นโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหวระบบ HYSC วิธีเชื่อมต่อเสากับฐานรากแบบใหม่ สลายพลังงานจากแผ่นดินไหว ลดความเสียหายของโครงสร้างหลัก คืนตัวสู่ตำแหน่งเดิม

จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูดในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้24 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เกิดความสูญเสียครั้งใหญ่ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  ได้แก่ นายศิรวิทย์ เทียนทอง (นัท) นายนภัสกร วงษ์หิรัญ (ฟาโรห์) และนายปาณทัช ทองอู๋ (ทัช) ได้พัฒนาโครงการวิจัย Seismic Performance of Self-Centering Column-Foundation Connections with Energy Dissipating Bolts หรือ การศึกษาพฤติกรรมการต้านทานแผ่นดินไหวของรอยต่อเสา-ฐานราก ระบบคืนศูนย์ด้วยตนเองทำงานร่วมกับสลักเกลียวสลายพลังงาน  นวัตกรรมที่จำกัดความเสียหายให้อยู่เฉพาะจุดเชื่อมต่อของโครงสร้างระบบสำเร็จรูป (Precast system) แทนที่จะกระจายไปสู่โครงสร้างหลักอย่างเสาและคาน ซึ่งซ่อมแซมยาก ค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจาก ผศ. ดร.เอกชัย อยู่ประเสริฐชัย อาจารย์ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้าง

งานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาระบบเชื่อมต่อระหว่างเสากับฐานรากแบบใหม่ เรียกว่า Hybrid Column Shoe Connection (HYSC) สามารถสลายพลังงานจากแผ่นดินไหว ลดความเสียหายของโครงสร้างหลัก คืนตัวสู่ตำแหน่งเดิมหลังการสั่นไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเชื่อมต่อแบบแห้ง (dry connection) ด้วยลวดอัดแรงแบบดึงทีหลัง (post-tensioned tendons) และสลักเกลียวช่วยสลายพลังงาน (energy-dissipating bolts) เพิ่มความยืดหยุ่น ปลอดภัย ลดต้นทุนรวมถึงระยะเวลาก่อสร้าง

“ระบบ HYSC ออกแบบให้ควบคุมความเสียหายเฉพาะบริเวณรอยต่อระหว่างเสากับฐานรากเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบโครงสร้างหลัก เช่น ตัวเสาหรือฐานราก การใช้ลวดอัดแรงแบบดึงทีหลังประมาณ 50% ของกำลังประลัย ( (Strength) ค่าแสดงความแข็งแรงของคอนกรีตที่รับแรงกดทับ)ช่วยเพิ่มความสามารถการคืนรูปของโครงสร้างหลังจากได้รับแรงแผ่นดินไหว เช่นเดียวกับการออกแบบสลักเกลียว (bolts)  ให้มีขนาดหน้าตัดลดลงอย่างเหมาะสม เพื่อสลายพลังงานจากการสั่นไหว ก่อนจะเกิดความเสียหายต่อเสา โครงสร้าง จึงฟื้นตัวได้ โดยไม่ต้องรื้อถอนหรือซ่อมแซมในวงกว้าง ลดต้นทุนและเวลาสำหรับการก่อสร้างและการบำรุงรักษาในระยะยาว” นายปาณทัช ทองอู๋ เล่าถึงแนวคิดหลักของงานวิจัย

นายศิรวิทย์ เทียนทอง เสริมว่า ระบบ HYSC พัฒนาขึ้น โดยอิงสถานการณ์จริงของอาคารพาณิชย์ขนาด 3 ชั้นในจังหวัดเชียงราย พื้นที่ที่เคยประสบภัยแผ่นดินไหวในปี 2557 ครั้งนั้นอาคารส่วนใหญ่เสียหายที่จุดต่อ ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ทันที แม้โครงสร้างยังคงแข็งแรง นวัตกรรมนี้จึงเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะอาคารที่มีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถใช้ระบบที่มีต้นทุนสูงเช่นในต่างประเทศได้

“เราทดลองเทียบกับระบบเดิมที่ใช้อยู่ พบว่าระบบ HYSC ควบคุมความเสียหายให้อยู่แค่ตรงจุดต่อ ไม่ลามไปถึงเสาแบบระบบ Monolithic Shoe Connection (MOSC) ซึ่งเป็นระบบแบบเดิม โครงสร้างคืนตัวได้หลังจากเกิดการเคลื่อนตัวทางข้างถึง ±4.5% ซึ่งระบบ MOSC ทำไม่ได้ โดย HYSC ดูดซับพลังงานได้มากขึ้น จากเดิมสลายพลังงานได้แค่ 12.5% เพิ่มเป็น 22.5% โดยความแข็งแรงรวมไม่ได้ลดลง” นายนภัสกร วงษ์หิรัญ กล่าวถึงผลการทดสอบ

ผศ. ดร.เอกชัย อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่าสิ่งที่นักศึกษาเรียนรู้จากโครงการนี้ ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นการนำความรู้ไปแก้ปัญหาจริง ด้วยกระบวนการคิด ทดลอง เรียนรู้จากความผิดพลาด คือหัวใจของวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นเป้าหมายของภาควิชาที่ต้องการสร้างบัณฑิตที่พร้อมทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม ผลงานนี้แสดงให้เห็นว่า การออกแบบโครงสร้างที่รับแรงแผ่นดินไหวได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงจากต่างประเทศเสมอไป วิศวกรไทยควรมีทางเลือกในการออกแบบที่ยืดหยุ่น ใช้วัสดุในประเทศ ต้นทุนไม่สูง และเหมาะกับบริบทของพื้นที่เสี่ยงในประเทศไทย

งานวิจัยนี้ยังอยู่ในระดับการทดลอง แต่ผลลัพธ์ที่ได้ แสดงให้เห็นศักยภาพเพื่อการต่อยอดใช้จริง โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยทางโครงสร้างที่สามารถลดความเสียหายและความสูญเสียจากแผ่นดินไหวทั้งในด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย นวัตกรรมที่พัฒนาโดยนักศึกษาวิศวกรรมโยธา มจธ. ในครั้งนี้ จึงไม่ใช่เพียงแค่การ “ออกแบบจุดเชื่อมต่อ” แต่คือการ “เชื่อมโยงสู่อนาคต” ที่ปลอดภัยของคนไทยจากภัยแผ่นไหวที่อาจเกิดขึ้นอีก

 

ข่าวอัพเดท

นวัตกรชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

นวัตกรชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนไทยด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม

วันอังคาร ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

สวทช. โชว์แพลตฟอร์ม LEAD EducationสอนAIได้ผล

สวทช. โชว์แพลตฟอร์ม LEAD EducationสอนAIได้ผล

วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

มรภ.อุตรดิตถ์ ดันข้อต่อใหม่ บ.มะขามสามเกลอสู่ตลาดมูลค่าสูง

มรภ.อุตรดิตถ์ ดันข้อต่อใหม่ บ.มะขามสามเกลอสู่ตลาดมูลค่าสูง

วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

เซ็นทรัล หาดใหญ่ จัดงาน “Hatyai Pride for All” ฉลองเดือนแห่งความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกเพศสภาพแสดงออกได้อย่างอิสระ

เซ็นทรัล หาดใหญ่ จัดงาน “Hatyai Pride for All” ฉลองเดือนแห่งความเท่าเทียม เปิดโอกาสให้ทุกเพศสภาพแสดงออกได้อย่างอิสระ

วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

โครงการเยาวชนไทยในสหรัฐฯ นำ 200 คน เยือนแผ่นดินแม่

โครงการเยาวชนไทยในสหรัฐฯ นำ 200 คน เยือนแผ่นดินแม่

วันจันทร์ ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ฝนหนักน่าน เชียงรายอ่วม ปภ. Cell Broadcastเตือน

ฝนหนักน่าน เชียงรายอ่วม ปภ. Cell Broadcastเตือน

วันเสาร์ ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2568

DPU เปิดเคล็ดลับธุรกิจอาหารรอดได้รวยให้เป็น

DPU เปิดเคล็ดลับธุรกิจอาหารรอดได้รวยให้เป็น

วันพฤหัส ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2568

ข่าวที่เกี่ยวข้อง