เตือนภาคเหนือระวังซ้ำจุดเสี่ยงเดิม-เมียนมาฝนหนัก
วันจันทร์ ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2567
การดู : 78
แชร์ :
สสน.เตือนภาคเหนือระวังฝนกระหน่ำซ้ำพื้นที่เสี่ยงเดิม พบที่เมียนมาต้นน้ำแม่สาย ลุ่มน้ำกก ตกหนักมากอาจท่วมฉับพลัน น้ำป่าหลาก ถึง 2 ตค.67 อุตุฯพยากรณ์เหนือ อีสาน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง เขื่อนป่าสักระบายเพิ่ม
คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)(สสน.) แจ้งเตือน เฝ้าระวัง พื้นที่ภาคเหนือ จะมีฝนตกหนักซ้ำพื้นที่เสี่ยงเดิม ช่วงวันที่ 30 ก.ย.-2 ต.ค. 67 รวมถึงจะมีฝนตกหนักในประเทศเมียนมา ต้นน้ำของลุ่มน้ำสาย และ ลุ่มน้ำกก ซึ่งดินยังอิ่มตัว อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ให้ติดตาม เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล่วงหน้า 72 ชั่วโมง (วันที่ 30 กย.67 )ภาคเหนือ 10 จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง ลำพูน กำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด สกลนคร อุดรธานี อุบลราชธานี ภาคกลาง 6 จังหวัด นครปฐม นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ เวลา 18.00น.วันที่ 30 กย.67 ความกดอากาศสูงเคลื่อนมาปกคลุมประเทศจีนตอนใต้แล้ว คาดว่าจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวคืนนี้ กับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีลมกระโชกแรงบางแห่ง ให้ระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้น
พยากรณ์ระบุว่า ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ มีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ภาคเหนือ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน
ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร
พิษณุโลก เพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู
อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม
ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ศรีสะเกษ
อุบลราชธานี
นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำเขต อ.ขุนหาญ กันทรลักษ์ และอ.เมืองศรีสะเกษ พบว่า อ่างเก็บน้ำบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้ง 5 แห่ง มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากน้ำในอ่างฯ มากกว่า 80% ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยตามาย อ.กันทรลักษ์ อ่างเก็บน้ำห้วยตะแบง อ่างเก็บน้ำห้วยทา อ.ขุนหาญ อ่างเก็บน้ำห้วยซัน อ่างเก็บน้ำห้วยคล้า อ.เมืองศรีสะเกษ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับเก็บกัก ระบายผ่านทางอาคารระบายน้ำล้น(spillway) สอดคล้องกับสถานการณ์ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แจ้งเตือน ก่อนหน้านี้
ข่าวแจ้งว่า แนวชายแดนไทย-กัมพูชา มีฝนตกชุกและความลาดชันสูง อาจเกิดภาวะน้ำบ่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันได้ โครงการชลประทานศรีสะเกษ จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ยืนยันอ่างเก็บน้ำทุกแห่งยังมีความมั่นคงแข็งแรง ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรเขตชลประทาน ได้แก่ ข้าวนาปี สวนทุเรียนภูเขาไฟ และพืชนิดต่างๆ ได้ตลอดทั้งปี
ด้านสถานการณ์เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนืองจากฝนตกหนักทางตอนบน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มมากขึ้น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ได้เพิ่มการระบายน้ำ ดังนี้
วันที่ 30 กย. 67 เวลา 06.00 น. เพิ่มการระบายจาก 260 ลบ.ม./วินาที เป็น 280 ลบ.ม/วินาที
วันที่ 1 ตค. 67 เวลา 06.00 น. เพิ่มจาก 280 ลบ.ม./วินาที เป็น 320 ลบ.ม/วินาที
วันที่ 2 ตค. 67 เวลา 06.00 น.เพิ่มจาก 320 ลบ.ม./วินาที เป็น 350 ลบ.ม/วินาที
การเพิ่มการระบายจะส่งผลให้แม่น้ำป่าสัก ด้านท้ายเขื่อนมีระดับเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 1 - 1.20 เมตร ซึ่งยังคงอยู่ในลำน้ำ ไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง
ข่าวอัพเดท