Project Day ‘งานปล่อยของ’ของเด็กวิศวะ มจธ.

วันอังคาร ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การดู : 157

Project Day ‘งานปล่อยของ’ของเด็กวิศวะ มจธ.

แชร์ :

Project Day มจธ. งานปล่อยของนักศึกษาวิศวะปี 4 นับร้อยชิ้นที่ได้รางวัลเวทีต่างๆมาอวดสายตาชาวโลก

รายงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่า ได้จัดกิจกรรม โครงงานวิศวกรรม (Project) ที่นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.นำเสนอกับอาจารย์ และจัดแสดงในกิจกรรม “Project Day” เมื่อวันที่13พ.ค.67  ข่าวแจ้งว่าการที่ Times Higher Education World University Rankings 2024 จัดให้ มจธ.เป็นอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทยด้าน Research Quality จากผลงานคุณภาพของงานวิจัยและนักวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับทั้งในวงกว้าง กิจกรรม Project Day ก็เป็นรูปธรรมที่เป็นที่ยอมรับ

นักเรียนมัธยมสนใจผลงานพี่ๆ

ศ.ดร.ชัย จาตุรพทักษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า Project Day ของคณะ วิศวกรรมศาสตร์ คือพื้นที่จัดแสดงโครงงานของนักศึกษาจากแต่ละในภาควิชา และผลงานจากการประกวดแข่งขันของนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจากเวทีต่างๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา วัตถุประสงค์ของ Project Day คือ การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้นักศึกษาเป็นผู้มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ตอบสนองความต้องการของสังคมหรือสามารถสร้างมูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

“กิจกรรม Project Day จัดครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2560 จนถึงปีนี้ มีเป้าหมายเดียวกัน คือ วิศวกรของเรา นอกจากมีความรู้และทักษะในวิชาชีพแล้ว ควรมีทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย งาน Project Day จึงไม่ใช่เวทีจัดแสดงผลงานเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาที่กำลังจะจบได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้คนที่หลากหลาย ทั้งกับเพื่อนชั้นปีที่ 4 นักศึกษารุ่นน้อง อาจารย์ ผู้ประกอบการ นักเรียนมัธยมที่เข้ามาชมผลงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการต่อยอดความคิดของนักศึกษาในภายหน้า”

ศ.ดร.ชัย จาตุรพทักษ์กุล

งาน Project Day 2024 ที่จัดขึ้น เป็นโครงงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จาก 10 ภาควิชาที่มีผลงานกว่า 300 ชิ้น มีงานที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก อาทิ การ พัฒนาแท่นชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับชาร์จไฟให้กับรถEV, การพัฒนาโมเดลแบบจำลองเส้นเลือดสมองเพื่อหาความสัมพันธ์ ของความดันโลหิตกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองที่ตำแหน่งต่างๆ, การใช้ไฮโดรเจลที่ใช้กับการใส่ปุ๋ยให้ต้นไม้มาเป็นช่วยแยกฟอสฟอรัสออกจากน้ำเสียของโรงงานและฟาร์มสุกร, อุปกรณ์ตรวจจับความผิดปกติของการเต้นของหัวใจที่สามารถวิเคราะห์และแจ้งความผิดปกติไปให้คุณหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลได้ทราบแบบ Real Time, การวิเคราะห์และสร้างภาพ 3 มิติเสมือนจริงของอาคารเก่าด้วยข้อมูลภาพถ่ายจากโดรน และการใช้ Machine Learning และปัญญาประดิษฐ์ กับงานที่หลากหลาย ตั้งแต่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จนถึงวิเคราะห์สภาพผิวหน้า เป็นต้น

แท่นชาร์จกระแสสลับสำหรับรถ EV
โปรเจกต์อุโมงลมทดสอบโมเดลรถขนาดเล็ก

ศ.ดร.ชัย กล่าวอีกว่า นอกจากกิจกรรม Project Day แล้ว ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลงานในเชิง “นวัตกรรมสร้างสรรค์” อีกหลายกิจกรรม อาทิ Project Conference ระดับนานาชาติ ที่จัดร่วมกับมหาวิทยาลัยอื่น กิจกรรมด้านการฝึกอบรม เผยแพร่ และการสนับสนุนการเรียนตามหลักสูตรและการพัฒนาตนเองให้กับนักศึกษาทุกระดับชั้นปี การมีพื้นที่ Innovation Exchange (INNO-X) ซึ่งเป็นสถานที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติและชิ้นงานต้นแบบ ซึ่งทั้งหมดนี้ คือการสร้างบรรยากาศทางวิชาการที่เข้มข้นให้กับสถาบัน อันจะนำไปสู่คุณภาพทางวิชาการที่เข้มแข็งของคณะและมหาวิทยาลัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง