นักวิจัยจี้ปรับระบบเตือนภัยทำแผนที่น้ำท่วม
วันเสาร์ ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 88
แชร์ :
สกสว.ระดมความเห็นหน่วยปฏิบัติ นักวิชาการ ตัวแทนชุมชน หาทางปรับระบบเตือนภัยพิบัติ ลดความเสียหายจากน้ำท่วม ดินถล่ม ย้ำรัฐบาลต้องเข้าใจ วางระบบบริหารจัดการภัยพิบัติใหม่ กระทรวง อว.ต้องสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยีเชื่อมโยงกับหน่วยงาน ลดความสูญเสีย แนะทำแผนที่น้ำท่วม พร้อนได้ง่ายมสร้างความพร้อม พื้นที่เสี่ยง ระบบเตือนภัยที่สื่อสารถึงประชาชน พื้นที่เสี่ยงอาจต้องย้ายชุมชน
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรม (สกสว.) เปิดการประชุม แถลงข่าวแนวทางการปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติเพื่อลดความเสียหาย (น้ำท่วม ดินถล่ม) ที่ห้องประชุม สกสว. เมื่อวันที่ 3 ตค.67 เพื่อรับทราบสถานะ เทคโนโลยี ระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัย ข้อจำกัด การปรับปรุง แนวทางจัดการในพื้นที่ และงานวิจัยที่ควรทำในอนาคต
ผอ.สกสว. กล่าวว่า ระบบป้องกัน เตือนภัยพิบัติน้ำท่วม ดินถล่มยังบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานไม่ทันกาล การประมวลผล การตัดสินใจล่าช้า มีปัญหาความแม่นยำของการคาดการณ์สถานการณ์ อุปกรณ์ตรวจวัด ระบบเครือข่ายไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง ต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง และเทคโนโลยี ที่ทันสมัย เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพิ่มความแม่นยำในการคาดการณ์ ที่ผ่านมา สกสว.ได้หนุนเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบป้องกันและแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มาโดยตลอด
รศ. ดร.ปัทมาวดี กล่าวด้วยว่าแนวทางที่เสนอจากงานวิจัย จะทำสมุดปกขาวเสนอฝ่ายบริหาร ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีอีก 11 กระทรวงเป็นกรรมการ และเสนอผ่านกระทรวง อว.ซึ่งมีหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทยในการป้องกันภัยอยู่แล้ว
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผอ.แผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ระบบเตือนภัยของไทยมีปัญหาในระดับปฏิบัติการ การเชื่อมโยง ข้อมูลที่เข้าถึงพื้นที่ยังไม่เพียงพอ ไม่ทันการณ์ สื่อสารไม่ทั่วถึง เข้าใจยากสำหรับชุมชน กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) ควรมีบทบาทเสริมทางวิชาการ เน้นสร้างองค์ความรู้ พัฒนาระบบเตือนภัย ร่วมพัฒนาความสามารถของชุมชนในพื้นที่ สนองต่อสถานการณ์ได้จริง เข้าถึงประชาชนได้ง่าย จากนี้ต้องจัดลำดับความสำคัญงานวิจัย ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว ให้เห็นว่าวิชาการช่วยประชาชนในพื้นที่ได้จริง มีสถาบันการศึกษาในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง สำคัญที่สุดคือการทำแผนที่น้ำท่วมเตรียมรับมือในพื้นที่เสี่ยงสูง
รศ. ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การปรับปรุงระบบเตือนภัยและบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากชุมชน ภาควิชาการเข้าไปช่วยเหลือ ชุมชนต้องแข็งแรง มีความรู้ ไม่เน้นเทคนิคมากมาย เน้นการพัฒนาชุมชนให้มีระบบเตือนภัยฐานชุมชน ซักซ้อมเพื่อช่วยเหลือกันเอง สนับสนุนให้มีปราชญ์ชุมชน ช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ เพราะเป็นคนเก่าแก่ที่ชุมชนเชื่อถือ มีข้อมูลจากวิทยาการภายนอกเข้าเสริม
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่าควรมีมาตรการเชิงโครงสร้างเพื่อป้องกันภัย ลดความแรงของกระแสน้ำจากพื้นที่ป่าไม้ สนับสนุนงานวิจัยและข้อเสนอทางกฎหมายให้มีโครงสร้างเพื่อบรรเทาสาธารณภัย เพราะต่อให้มีระบบการเตือนภัยที่แม่นยำอย่างไร ก็ไม่ไหวที่จะปล่อยให้มีสถานการณ์แล้วก็จะหนี ก็คงไม่เหมาะ เพราะต้องหนีเป็นร้อยปี โดยกล่าวถึงพื้นที่ อ.แม่สาย โดยเฉพาะบริเวณถ้ำผาจม ชุมชนเกาะทราย เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรจะอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ที่ตะกอนดินไหลมาทับ การเจาะชั้นดินนั้นพบว่าชั้นดินตะกอนเคยมีการทับถมมาก่อนในอดีต จะศึกษาตรวจสอบอายุว่าเคยมีดินโคลนถล่มในอดีตมากี่ครั้งแล้ว ทั้งในเชิงโครงสร้างควรจะมีเขตเศรษฐกิจใหม่ของอ.แม่สายแล้วค่อยๆย้ายไป
รศ. ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง ระบบเตือนภัยน้ำท่วมสำหรับพื้นที่เสี่ยงสูงต้องเริ่มมาจากการพยากรณ์น้ำล่วงหน้าที่แม่นยำ มีเวลามากพอ มีเครื่องมือสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงความลึกของระดับน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณต่าง ๆ เครื่องมือที่ทำได้ก่อนใช้งบประมาณและเวลาไม่มาก ได้แก่ แผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม หมุดหมายระดับครอบคลุมพื้นที่ ซึ่ง อว. สนับสนุนองค์ความรู้ให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้
สำหรับเสียงสะท้อนจากตัวแทนผู้นำชุมชนซึ่งเป็นเครือข่ายวิจัย พบว่าทิศทางการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพจะต้องได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการและวิชาการ ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนแจ้งเตือนกันเองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่นการโทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร ปัญหาการสื่อสารด้วยศัพท์ทางวิชาการของหน่วยงานที่เข้าใจยาก การสื่อสารข้อมูลจากส่วนกลางที่น่าเชื่อถือ รับฟังและนำไปปฏิบัติได้ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องหาทางแก้ไข นอกจากนี้ยังต้องซ้อมแผนเผชิญเหตุในเชิงนโยบายและระบุอำนาจของผู้นำ อปท. ว่าสามารถดำเนินการอะไรได้บ้าง และจะมีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที
นอกจากนี้ในเวทียังมีข้อเสนอในระยะยาว ควรออกกฎหมายการควบคุมการก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยง การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินและวางระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยง ปรับโครงสร้างเดิมที่จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำมาเป็นสถาบันมืออาชีพ มีกลไกจัดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินเนื่องจากเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต้องทำจากพื้นที่ เพื่อจะได้ทราบว่ามีพื้นที่ใหม่ ๆ ที่น้ำท่วมอยู่ตรงไหน หารือเรื่องออกผังน้ำกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ปรับเปลี่ยนเกณฑ์การก่อสร้าง พื้นที่สีเขียว การวางระบบจัดการ การควบคุมการใช้ที่ดิน การจัดการของชุมชนให้ไปด้วยกันอย่างเหมาะสม มีการแบ่งอำนาจส่วนกลางกับท้องถิ่นให้สอดคล้องและชัดเจน ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าใจและวางระบบบริหารจัดการภัยพิบัติใหม่ และหวังว่านักการเมืองจะเริ่มเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติตามแนวคิดใหม่