ยกย่อง19ชุมชนไม้มีค่าสร้างสมดุลธรรมชาติ

วันพุธ ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

การดู : 34

ยกย่อง19ชุมชนไม้มีค่าสร้างสมดุลธรรมชาติ

แชร์ :

วช. ประกาศเกียรติคุณ ยกย่อง 19 ชุมชนไม้มีค่า ในงานวันนักประดิษฐ์ 2568 ให้เป็นต้นแบบชุมชนอื่นในการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสมดุลธรรมชาติ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มอบประกาศเกียรติคุณชุมชนไม้มีค่าระดับประเทศ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. เป็นประธานในพิธี ภายในงาน วันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา   เมื่อวันที่ 3 กพ. 68

ในพิธีมีการมอบประกาศเกียรติคุณ “ชุมชนไม้มีค่า” โล่และเกียรติบัตร แก่ 19 ชุมชน แบ่งรางวัล 5 ประเภท ได้แก่ ระดับดีเลิศ 1 รางวัล, ระดับดีเด่น  1 รางวัล, ดีมาก  2 รางวัล, ระดับดี 8 รางวัล ระดับชมเชย 7 รางวัล โดย วช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีเป้าหมายที่ขยายผลโครงการชุมชนไม้มีค่า ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประยุกต์ใช้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไม้มีค่าเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า พิธีมอบประกาศเกียรติคุณชุมชนไม้มีค่า ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 เพื่อยกย่องชุมชนที่มีผลงานโดดเด่นซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ในการบริหารจัดการไม้มีค่าอย่างยั่งยืน ส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้ชุมชนประยุกต์ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนา 

ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว ที่ปรึกษาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการชุมชนไม้มีค่า กล่าวว่า โครงการชุมชนไม้มีค่าเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างสมดุลให้กับธรรมชาติ มี 4 หน่วยงานหลักขับเคลื่อน ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรมป่าไม้ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชน และเป็นรากฐานการสร้างการเรียนรู้ระดับชุมชนขยายผลสู่การพัฒนาระดับประเทศในอนาคต

ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ประธานคณะกรรมการโครงการประกาศเกียรติคุณชุมชนไม้มีค่าระดับประเทศ กล่าวว่าได้คัดเลือกชุมชนไม้มีค่า 65 ชุมชน กำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกชุมชนไม้มีค่า4 ด้าน คือด้านการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อรักษาสมดุลอย่างยั่งยืน การสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมรายได้ การบริหารจัดการชุมชนและเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง