ปั้น 200 นักจัดการงานวิจัยพัฒนาให้ถึงที่

วันอังคาร ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2567

การดู : 88

ปั้น 200 นักจัดการงานวิจัยพัฒนาให้ถึงที่

แชร์ :

บพท.ต่อยอดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพบุคลากร เป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ปี 2 ปั้น 200 นักจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ สร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ รับมือความเสี่ยงภัย

   เมื่อวันที่ 3 ธค.67 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แถลงเปิดตัวหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC Academy) ปีที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2567และเพื่อให้หน่วยงาน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการพัฒนานักจัดการ งานวิจัยเชิงพื้นที (Area Based Research Manager) ระบบจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างการรับรู้การขับเคลื่อนการพัฒนานักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Area Based Research Manager) ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (ววน) เพื่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานผู้เข้ารับการฝึกอบรม

          ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผอ. บพท. กล่าวว่าหลักสูตรฯจัดขึ้นต่อยอด ขยายผลจากปีที่ 1 ยกระดับคุณภาพให้เข้มข้นขึ้น ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาทความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น ผลักดันการขับเคลื่อนแผนบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดียิ่งขึ้น

          กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าอบรม มี 3 กลุ่ม รวม 200 คน ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Policy Driven Group) 2.กลุ่มนักวิจัยที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่  (Area Driven Group)  3.กลุ่มผู้สนใจทั่วไป มาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ (Open Access Group)  กำหนดพื้นที่ดำเนินการ 3 ลักษณะ ได้แก่พื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพท.  พื้นที่เป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการที่จะพัฒนาไปเป็น Initiative Program  และพื้นที่ซึ่งได้รับทุนจากแหล่งทุนวิจัยหรือหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ดร.กิตติ กล่าวอีกว่า เป้าประสงค์ของหลักสูตรนี้คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่ใช้ข้อมูลความรู้เป็น ติดอาวุธให้มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่  คุณสมบัติของนักจัดการงานวิจัย คือผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความรู้เป็น มีหลายระดับ กลุ่มหลักอยู่ในมหาวิทยาลัย มีพื้นที่บริการครอบคลุมทุกจังหวัด อีกส่วนเป็นผู้นำท้องถิ่น มีความรู้การทำแผน การทำงานปฏิบัติการประจำปี ทำให้โครงการทางนโยบายของรัฐไปได้ดีขึ้น และจากภาคประชาสังคม แกนนำชาวบ้านแกนนำชุมชน ที่ต้องการเสริมพลังความรู้ การวิเคราะห์ห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาชีพ เช่นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจ เครื่องมือพัฒนาในการสร้างโครงการดีๆในการขอรับงบประมาณภาครัฐหรือภาคส่วนต่างๆ  เท่ากับเสริมพลังเสริมความรู้ ให้ผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ทุกระดับ ให้ทุกจังหวัดมีผู้จัดการในระดับพื้นที่ที่ใช้ข้อมูลความรู้เป็น เพราะทุกจังหวัดมีวาระสำคัญๆ เช่นการศึกษา การเรียนรู้ ด้านเศรษฐกิจ การอาชีพ ด้านสุขภาพ ด้านการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม แต่ละด้านถ้ามีนักจัดการงานวิจัย ทำความร่วมมือกับองค์กรภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องภัยพิบัติ ก็มีผู้จัดการระดับพื้นที่จากมหาวิทยาลัยที่จะมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ในการชี้เป้าชี้จุด การสร้างศูนย์พักพิง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาองค์รวมของพื้นที่

ดร.กิตติ ยกตัวอย่างสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ บพท.มีผู้จัดการระดับพื้นที่ถึง 3 มหาวิทยาลัยคือมหาวิทยาลัยนราธิวาส มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทำระบบข้อมูลชี้เป้า ทุกภาคส่วนนำไปซ้อนทับกับข้อมูลพื้นที่ยากจน ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมจะมีชุมชน ครัวเรือนอ่อนไหวที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนอยู่จุดใด ถัดมาเป็นการชี้เป้าพื้นที่ที่ภาครัฐหรือหน่วยช่วยเหลือยังเข้าไม่ถึง ก็จะให้หน่วยช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยเข้าไปก่อน การจัดตั้งศูนย์พักพิงตามนโยบาย มีการสนับสนุนองค์ความรู้ ซึ่งทำได้ดียิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเหตุน้ำท่วมทำให้ระบบต่างๆเสียหาย ก็มีระบบชาร์จแบตเตอรี่เร็ว   ระบบเตือนภัย ผ่านเรือที่มีระบบ WiFi งานวิจัยและนวัตกรรมแบบนี้ ต้องการการเอาไปใช้ประโยชน์ โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน สิ่งที่จะให้เกิดให้ลำดับถัดไป คือคณะกรรมการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บรรจุมหาวิทยาลัยเข้าไปในภาคส่วนต่างๆ เช่นคณะกรรมการภัยพิบัติแห่งชาติหรือคณะกรรมการภัยพิบัติระดับจังหวัด หากได้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้าเติมเต็มจะช่วยให้งานราบรื่นขึ้น งบประมาณหรือการปฏิบัติต่างๆจะตรงเป้ามากขึ้น การเป็นหน่วยงานทางวิชาการมีความน่าเชื่อถือ การเก็บข้อมูล การวัดผล มันค่อนข้างจะได้ผล

          “เรามั่นใจว่าผู้ผ่านหลักสูตรหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะเป็นขุมพลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ และเป็นกลไกสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่ ด้วยทักษะการบริหารจัดการความรู้จากงานวิจัยให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง