กรมชลฯคาดน้ำท่วมลำพูนต่ออีก2วัน
วันอังคาร ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 97
แชร์ :
ชลประทานฯ เร่งระบายน้ำเมืองลำพูน ลงแม่กวง แม่ปิง ระดมเครื่องสูบแก้ปัญหาที่ลุ่มต่ำ GISTDA เผยภาพดาวเทียมสถานการณ์ชียงใหม่ และเขตน้ำท่วมท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ส่วนใหญ่ท่วมพื้นเกษตรกร เส้นทางคมนาคม และย่านพักอาศัย
กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเมืองลำพูน เมื่อวันที่ 8 ตค.67 น้ำจากแม่น้ำปิงที่เอ่อล้นไหลตามเส้นทางต้นยาง-เลียบรางรถไฟจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เข้าสู่พื้นที่ จ.ลำพูน ส่งผลให้ ต.อุโมงค์ ต.หนองช้างคืน ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน มีน้ำท่วมขัง บางจุดสูงมากกว่า 1 เมตร โครงการชลประทานลำพูน นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.) และตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา ระบายลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด ปริมาณน้ำในพื้นที่ จ.ลำพูน ถึงในระดับสูงสุดแล้ว จะเริ่มทรงตัว คาดว่าอีก 1-2 วัน จะค่อย ๆ ลดลง น้ำในแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนัก ไม่มีน้ำจากตอนบนลงมาเพิ่ม คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)(GISTDA) เผยแพร่ภาพจากดาวเทียมไทยโชต ถ่ายเมื่อวันที่ 8 ตค. 67 แสดงให้เห็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลต่อเนื่องมาจากตัว อ.เมืองเชียงใหม่ เข้าท่วมหลายพื้นที่โดยรอบใน อ.สารภี, อ.หางดง,อ.เมือง จ.ลำพูน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เส้นทางคมนาคม และชุมชนที่อยู่อาศัย
ส่วนภาคกลาง พื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา GISTDA ได้เผยภาพจากดาวเทียม THEOS-2 ถ่ายเมื่อวันที่ 7 ตค. 67 แสดงให้เห็นพื้นที่น้ำท่วมขังในทุ่งรับน้ำภาคกลางได้แก่ ทุ่งผักไห่ ทุ่งบ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา นอกจากพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกน้ำท่วมขัง มวลน้ำยังกระทบต่อชุมชนที่อยู่รอบๆ โดยเฉพาะที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ
GISTDA แจ้งว่าได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการตามภารกิจ ประชาชนตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ พร้อมรายงานสรุปพื้นที่น้ำท่วมแต่ละจังหวัด ได้ที่ https://disaster.gistda.or.th
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน แจ้งว่า วันที่ 8 ต.ค. 67 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีน้ำในอ่างฯ 683 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือร้อยละ 71 ของความจุ กรมชลประทาน จะทยอยปรับลดการระบายน้ำ จาก 100 ลบ.ม./วินาที เหลือ 50 ลบ.ม./วินาที ในวันที่9 ตค. 67 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่10 ตค. 67 จะปรับเหลือ 10 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดปริมาณน้ำที่ไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการบรรเทาปัญหาอุทกภัยพื้นที่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ส่วนเขื่อนเจ้าพระยา วันที่ 8 ตค67 ควบคุมการระบายน้ำอัตรา 2,199 ลบ.ม./วินาที
คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) รายงานสถานการณ์วันที่ 8 ตค. 67 ระดับน้ำแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขา อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.เมืองเชียงใหม่ อ.สารภี อ.สันป่าตอง อ.จอมทอง อ.ฮอด อำเภอดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่ลดลงต่ำกว่าตลิ่ง มีบางบริเวณที่สูงกว่าระดับตลิ่ง และยังท่วมขังในเขตเมือง จากฝนที่ตกสะสมอย่างต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา และให้เฝ้าระวัง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ที่อาจได้รับผลกระทบมวลน้ำที่ไหลมาจากจ.เชียงใหม่
ระดับน้ำแม่น้ำวัง โดยเฉพาะอ.แม่พริก จ.ลำปาง และอ.สามเงา จ.ตาก ที่ล้นตลิ่งบางพื้นที่ ยังมีน้ำท่วมขัง จากฝนที่ตกสะสมช่วงที่ผ่านมา
ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และแม่น้ำท่าจีน จ.สุพรรณบุรี นครปฐม ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำและลำน้ำสาขาได้รับผลกระทบ
ข่าวอัพเดท