สกสว.ลงชายแดนใต้ดึงงานวิจัยลดขัดแย้งสร้างสันติ

วันพฤหัส ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การดู : 66

สกสว.ลงชายแดนใต้ดึงงานวิจัยลดขัดแย้งสร้างสันติ

แชร์ :

สกสว.ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ประชุมฟังข้อเสนอโจทย์วิจัย กำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน เพื่อการส่งเสริมการสร้างสันติภาพ แก้ไขปัญหาทุกมิติ  แจงงานวิจัยประเด็นความขัดแย้ง ความรุนแรง และการสร้างสันติภาพ มีน้อย

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัด แม้สถิติความรุนแรงจะลดลง แต่ความขัดแย้งยังไม่มีท่าทีคลี่คลาย กลับผลกระทบทที่เกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้ง เช่น ความยากจน ยาเสพติด น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มอบหมายให้ประสานทุกหน่วยงานในสังกัดสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รับฟังปัญหา ความต้องการและข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อนำไปใช้วางแผนขับเคลื่อน โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการ ให้ความรู้และผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เชื่อมต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ  

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา

 

“ในฐานะกรรมาธการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร จะนำแนวทางการบูรณาการฯ และผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อาทิ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของคนในพื้นที่ นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อร่วมสนับสนุนการทำงานให้ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นร่วม 20 ปี ถูกแก้ไขได้ดีขึ้น”พญ.เพชรดาวกล่าว

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล

 

ด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่าการรับฟังความคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะด้านการจัดทำโจทย์วิจัย การกำหนดตัวชี้วัดร่วมกัน เป็นข้อมูลสำคัญให้ สกสว.ใช้ออกแบบการทำงาน ประสานงานกับหน่วยระดับพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการกำหนดนโยบาย รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ส่งต่อผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ในทุกมิติ เพื่อสร้างกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการการใช้ข้อมูลงานวิจัย และการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไป

สกสว. มีหน้าที่จัดทำแผนและกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ยังจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) และหน่วยรับงบประมาณ เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน หรือ ตามพันธกิจของหน่วยงาน (Fundamental Fund) ที่รวมถึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น

ผศ. ดร. แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง

 

ผศ. ดร. แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Agenda Team : SAT) ด้านธรรมาภิบาล คอรัปชั่น และลดความรุนแรง สกสว. กล่าวว่าการสำรวจงานวิจัยในระบบวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พบว่า งานวิจัยในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบทั้งหมดมีทิศทางที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นเป็นหลัก (well-being) ทั้งงานวิจัย Fundamental Fund และ Strategic Fund ทั้งในด้านการแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การยกระดับผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานอัตลักษณ์ ขณะที่การแก้ไขปัญหาด้านความขัดแย้ง ความรุนแรง และการสร้างสันติภาพ มีงานวิจัยน้อยมาก แม้ว่าแผนด้าน ววน. ปี 2566 – 2570 จะมีแผนงาน P14 (S2) พัฒนานโยบายและต้นแบบ เพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงฯ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่เจาะประเด็นความรุนแรงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงมากนัก ทำให้งานวิจัยไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจพลวัต ความขัดแย้ง ความรุนแรงได้อย่างลึกซึ้ง และทันต่อสถานการณ์

         ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความคิดเห็นว่าด้วยความต้องการและโจทย์วิจัยอย่างหลากหลายโดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ประเด็น สันติภาพ (Peace) เช่น การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในกระบวนการสันติภาพ การเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา (Partnership) เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และภาคนโยบาย ด้านผู้คนและสังคม (People) เช่น การพัฒนาคุณภาพแรงงานตลอด value chain ของเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ และด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) เช่น การบรรเทาผลกระทบภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำ 

สกสว. ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตัวแทนจากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา ประชุมหารือ วิเคราะห์ความต้องการและโจทย์วิจัยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านความเป็นอยู่ที่ดี มิติความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ เพื่อวางแนวทางการบูรณาการงานวิจัยของระบบ ววน. กับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมติดตามสถานะของผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการ และการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ชายแดนใต้ในทุกมิติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง