‘มวยไทยเมืองลุง’ลุยเวทีมหกรรมวิจัยแห่งชาติ
วันอาทิตย์ ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2567
การดู : 114
แชร์ :
เริ่ม 26 สค. 67 มหกรรมวิจัยแห่งชาติ ที่ ศูนย์ประชุม ชั้น22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีผลงานนวัตกรรมจากหลากหลายสถาบัน เกือบพันรายการ ชี้เป้างานวิจัยเด่นจาก ม.ทักษิณ ฟื้นมวยไทยเมืองลุงเอกลักษณ์เชิงมวยท่างูเหลือม ลีลาท่ารำแนวมโนราห์
งานมหกรรมวิจัยแห่งชาติเริ่มต้นวันนี้(26 สค 67)ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 ราชประสงค์ มีผลงานวิจัยนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษาหน่วยงานภาครัฐเอกชนนับพันรายการร่วมแสดง ข่าวแจ้งว่าในครั้งนี้ รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้นำเสนอผลงานวิจัย โครงการมวยไทยเมืองลุง พลังเครือข่ายแบบมีส่วนร่วมและการจัดการทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน มาเผยแพร่
มวยไทยเมืองลุงมีจุดเด่นและความแตกต่าง รศ.ดร.สมัคร กล่าวว่า นักวิจัยได้ถอดอัตลักษณ์ของมวย ทั้งการไหว้ครู ดนตรี การกอดรัดฟัดเหวี่ยง ท่างูเหลือม พัทลุง มีจุดเด่นเรื่องโนรา(มโนราห์) ท่ารำมวยจึงมีส่วนคล้ายกัน เป็นความแตกต่างจากที่อื่น
เอกสารเผยแพร่มวยไทยเมืองลุง ระบุว่าเกิดจากการหล่อหลอม วัฒนธรรม ผสมผสานเรื่องราวประวัติศาสตร์ ศิลปะการป้องกันตัว ความเชื่อ คาถาอาคม การฝึกความอดทน การต่อสู้ การสร้างชีวิตที่หลุดพ้นจากความยากจน และการแข่งขัน มีรูปแบบการชกเป็นเอกลักษณ์ คือการรัดเอวคู่ต่อสู้ให้แน่นแล้วตีเข่า คล้ายกับการรัดเหยื่อของงูเหลือมบนเทือกเขาบรรทัด อัตลักษณ์ที่ชัดเจน คือ จับ เลื้อย รัด ฟัด ทุ่ม ท่าไหว้ครูมวยเมืองลุงเหมือนกับท่ารำมโนราห์ เช่น ท่าเทพพนม ท่าเขาควาย จังหวะ ปี่มวยเมืองลุงก็คล้ายกับมโนราห์ มีความโดดเด่นเฉพาะตัวที่ชัดเจนกว่าปี่มวยในภูมิภาคอื่น ๆ
เอกสารดังกล่าว อธิบายท่างูเหลือมเมืองลุงเกิดจากครูมวยไทยบนเทือกเขาบรรทัด นำศาสตร์การรัดของงูเหลือมที่รัดเหยื่อให้แน่นจนตาย จุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ท่างูเหลือมเมืองลุง คือ การรัดเอวคู่ต่อสู้ให้แน่นแล้วตีเข่า เป็นเชิงเข่าที่แตกต่างจากการรัดคอ ตีเข่า เปลี่ยนมาเป็นการรัดเอวแทน การตีเข่าก็จะเปลี่ยนจากตีเข่าหน้าท้องและลิ้นปี่ มาตีที่บริเวณหน้าขาและสะโพก เป็นลูกไม้ มวยไทยที่แก้ทางลำบาก ต้องใช้แรงเยอะ การรัดเอวจะประสานมือเป็นการไขว้ข้อแขน ลูกไม้ท่านี้จึงดิ้นสะบัดหลุดลำบาก หากคู่ต่อสู้ ไม่มีเรี่ยวแรงหรือแก้เกมไม่เป็นก็จะดิ้นไม่หลุด
แม่ไม้เมืองลุงอีกท่า คือโนราเล่นหาง เป็นท่าที่สอดประสานการร่ายรำของมในราห์ ประยุกต์ต่อสู้ป้องกันมวยหมัด ใช้เหลี่ยมซ้ายหรือเหลี่ยมขวา หลบหมัดคู่ต่อสู้ ใช้มือซ้ายหรือขวากดคอผู้ต่อสู้ พร้อมกับเหวี่ยงเท้าซ้ายหรือขวา ดีดเท้ากลับหลังมาที่ใบหน้าของอีกฝ่าย เป็นเชิงมวยแก้มวยหมัด ประยุกต์จากท่ามโนราห์ติดบ่วงบาศของพรานบุญ ใช้เท้าดีดสะบัดให้หลุดจากบ่วงบาศและบินหนีไป
“ปัญหาคือศิลปะการต่อสู้นี้ กำลังจะเลือนหายไป ภาครัฐก็ไม่ได้สนับสนุน” รศ.ดร.สมัครกล่าว และว่างานวิจัยนี้ เป็นการนำศิลปะการต่อสู้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เป็นทูตวัฒนธรรมประจำจังหวัด เป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือจากนักวิจัยหลายศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทักษิณ เช่นวิทยาศาสตร์การกีฬา พลศึกษา ศึกษาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา จ.พัทลุง มีค่ายมวยเกือบ 20 แห่ง มีนักมวยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก นักมวยที่มีชื่อเสียงที่เริ่มต้นจากพัทลุงก็มี ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน อดีตแชมป์โลก ONE คิกบ็อกซิ่ง และรถถัง จิตรเมืองนนท์ แชมป์ ONE มวยไทย
งานวิจัยนี้ เบื้องต้นจะช่วยค่ายมวยราว 20 แห่งฟื้นตัว หลังการระบาดของโควิด19 ให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นนอกจากการแข่งขัน โดยการเติมความรู้วิทยาศาสตร์การกีฬา จากคณะวิทยาการสุขภาพและกีฬา ทำงานร่วมกับเครือข่ายภาครัฐเช่น สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พัทลุง สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและตัวแทนภาคเอกชน โดยร่วมกับโรงแรมดุสิตปริ๊นเซสพัทลุง จัดคอร์สมวยไทยในโรงแรม หลักสูตร 3 ชั่วโมงหลักสูตร 2-3 วัน คอร์ส 1สัปดาห์ คอร์ส 15 วัน ให้ค่ายมวยที่ได้มาตรฐานจัดบริการนักท่องเที่ยว ปัจจุบันพัทลุงมีมาเลเซีย สิงคโปร์ เดินทางมาพักผ่อนจำนวนมาก หากสนใจเรียนมวยไทย ก็ช่วยให้ค่ายมวยมีรายได้
รศ.ดร.สมัครกล่าวว่า ในการจัดการทุนทางวัฒนธรรม นักวิจัยได้สนับสนุนการพัฒนาทักษะบุคลากรวงการมวยให้ได้มาตรฐาน ทั้งครูมวย นักมวย มีไลเซนส์ (การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพการกีฬา สาขามวยไทย อาชีพครูมวยไทยเพื่อการแข่งขันและอาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)) เปลี่ยนค่ายมวยเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นยิม สร้างรายได้ อาจมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมวยไทยจำหน่าย เกิดรายได้ขึ้นมาอีกทางหนึ่งได้ “นักมวยมีทักษะอยู่แล้ว ก็ให้เขาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้กับผู้สนใจกับที่อยากออกกำลังกายและเป็นเส้นทางท่องเที่ยวได้”
ก่อนหน้านี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าวงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ว่า งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 มีขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค.67 ที่ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯภายในงาน มีกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและการประชุมมากกว่า 130 หัวข้อเรื่อง นิทรรศการอีกมากกว่า 700 ผลงาน มีกิจกรรมของนักศึกษาทุกระดับจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ นำเสนอผลงานนวัตกรรรมและประกวดแข่งขัน การเฟ้นหาวิศวกรสังคมพัฒนาชุมชนดีเด่น
#
ข่าวอัพเดท