ดันสุพรรณศูนย์กลางอาหาร-เกษตรปลอดภัย
วันอาทิตย์ ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567
การดู : 140
แชร์ :
ม.สวนดุสิตขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร จับมือจตุรภาคี หนุนสุพรรณบุรีเป็นเมืองต้นแบบอาหารปลอดภัย พัฒนาผลิตภัณฑ์กษตรปลอดภัยมาตรฐาน เพิ่มมูลค่า
รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง ผอ.โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยถึงการเสวนา การดำเนินโครงการ สุพรรณบุรีโมเดล…เมืองต้นแบบอาหารปลอดภัยสู่ความยั่งยืน ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 ว่าเพื่อสนับสนุนการพัฒนาจ.สุพรรณบุรีเป็นศูนย์กลางเมืองอาหารและเกษตรปลอดภัย โดยดำเนินโครงการวิจัยใน จ.สุพรรณบุรีมากว่า 10 ปี พัฒนางานวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม การพัฒนาอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี และสังคมที่มีสุขของจ.สุพรรณบุรี
ปี 2567 มหาวิทยาลัยสวนดุสิตร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคชุมชน ภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาในลักษณะจตุรภาคี (Quadruple Helix) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัยที่มีมาตรฐาน เพิ่มมูลค่า สู่มาตรฐานสากล พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอดภัย จ.สุพรรณบุรีให้เป็นที่รู้จัก
การเสวนาครั้งนี้ รศ. ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารวิจัยและนวัตกรรม ดร.สรชัด สุจิตต์ ส.ส.สุพรรณบุรี ณัชกฤติ พิมพ์ทอง กรรมการผู้จัดการวิสาหกิจชุมชนสิริสุพรรณ ชาตรี รักธรรม ที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง และสุภคม เอื้อทยา สมาชิกวิสาหกิจชุมชนคนรักษ์บ้านโพธิ์ เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างความยั่งยืนผ่านการพัฒนา จ.สุพรรณบุรีเป็นเมืองอาหารปลอดภัย มีการสาธิตการทำอาหารโดย เชฟจารึก ศรีอรุณ อาจารย์โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำวัตถุดิบทางการเกษตรปลอดภัยของจ.สุพรรณบุรี พัฒนาเป็นเมนูอาหารพร้อมทาน
“เป้าหมายการดำเนินงานของศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ คือ 1) ความเข้มแข็งในเชิงวิชาการ บูรณาการองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ การตีพิมพ์บทความวิจัย การประชุมเชิงวิชาการสร้างองค์ความรู้ใหม่จากต้นทุนทางวัฒนธรรมด้านอาหารไทยร่วมกับนักวิชาการเครือข่ายต่างประเทศ เผยแพร่องค์ความรู้สู่สากล 2) ด้านเศรษฐกิจ นำองค์ความรู้ มาเป็นแนวทางการพัฒนากิจกรรมตลอดจนทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารของไทย การวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญให้กับประเทศ 3) ด้านสังคม สืบสาน อนุรักษ์ ภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นไทย ให้เป็นทุนทางวัฒนธรรม เกิดทุนสังคมของประเทศ” รศ. ดร.พรรณี กล่าว
โครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ข่าวอัพเดท