สกสว.พลิกวิกฤติน่านขยายผลจัดการน้ำระดับพื้นที่อีก10จังหวัด

วันเสาร์ ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การดู : 161

สกสว.พลิกวิกฤติน่านขยายผลจัดการน้ำระดับพื้นที่อีก10จังหวัด

แชร์ :

สกสว.รวมทีมวิชาการ ทุกภาคส่วนเสริมความเข้มแข็งการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ พลิกวิกฤติท่วมน้ำแล้ง ร่วมกันต่อจิกซอว์โมเดลน่าน เป็นรูปธรรมการขยายผลไปพื้นที่อื่นให้ครบ 10 จังหวัด ภายใต้ความร่วมมือของ อว. และกระทรวงมหาดไทย

ผังการจัดการน้ำระดับพื้นที่

 

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผอ.แผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศึกษาดูงานพื้นที่รูปธรรมการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ จ.น่าน สร้างความเข้าใจแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เรียนรู้การพัฒนาผู้บริหาร บุคลากรและแกนนำตำบลในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผนน้ำชุมชนแบบมีส่วนร่วม

รศ.ดร.สุจริต หารือการัดน้ำระดับพื้นที่

 

แนวทางดังกล่าวมีจิ๊กซอว์สำคัญที่นักจัดการ เป็นทีมงานหลังบ้านขับเคลื่อนงาน เรียนรู้การนำระบบภูมิสารสนเทศด้านน้ำมาจัดทำแผนงาน กิจกรรม โดยนายชิษนุวัตร มณีศรีขำ หัวหน้าโครงการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำขององค์กรผู้ใช้น้ำและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับแผนการจัดการน้ำระดับจังหวัด 

ว่าที่ ร.ต.อลงกต ประสมทรัพย์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อสวก กล่าวถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจัดการน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแบบการมีส่วนร่วม จัดเก็บข้อมูลแหล่งน้ำในพื้นที่ สมดุลน้ำ ผังน้ำ จะอัพเดตทุกปี ๆ ละ 2 ครั้ง คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับตำบลทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและนักวิชาการ วิเคราะห์สถานการณ์และแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วยตัวเอง ในระยะกลางโครงการที่เกินศักยภาพของ อบต. ต้องใช้งบประมาณร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำแผนผ่านระบบ Thai Water Plan และระยะยาวโครงการที่ใช้งบประมาณสูงในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ จะทำงานร่วมกับทีมวิชาการเสนอไปยัง หน่วยงานที่รับผิดชอบ

จำลองการไหลของน้ำกับชาวบ้าน

 

รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่า จากนี้ไปจะต่อยอดขับเคลื่อนงาน เพิ่มเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) ใช้แนวคิดการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ ชุมชน และจังหวัด เสริมด้วยการจัดการด้านการตลาด เพื่อเตรียมแผนงานและงบประมาณรองรับในการจัดทำกลไกคลินิกวิชาการสนับสนุน วางเป้าหมายว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น 

“งานวิจัยชี้ว่าพื้นที่ที่พัฒนาโครงการดี จะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดีกว่า การทำงานแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างตามปัจจัยและบริบท ต้องกำหนดผู้ขับเคลื่อน มีนโยบายจากกระทรวงมหาดไทยที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ร่วมรับผิดชอบระดับพื้นที่ ควรมีกฎกระทรวงรองรับการวางแผนและทำงานด้านน้ำระดับพื้นที่ที่ชัดเจน และมีโอกาสได้รับงบสนับสนุนจากสำนักงบประมาณเพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำ sandbox (พื้นที่ทดลอง) เชื่อมโยงกับกระทรวงมหาดไทย อว. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีนักวิชาการเป็นกลไกด้านเทคนิค มีงานวิจัยประกอบการทำแผนงานหลักในการบริหารจัดการน้ำและแผนงานสร้างรายได้ รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเพื่อทำแผนการตลาดนำเป็นเครือข่ายร่วมกัน” รศ. ดร.สุจริตกล่าว

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ. สกสว. เปิดเผยว่า จ.น่านมีศักยภาพระดับท้องถิ่น การดูงานครั้งนี้ทำให้รับรู้ถึงความซับซ้อนของระบบการจัดการน้ำและภัยพิบัติ ชุดข้อมูลและองค์ความรู้ที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ทำให้การทำงานยากขึ้น จึงต้องมีความรู้ใหม่ ๆ ในการทำงานร่วมกับพื้นที่และระดับนโยบาย เพื่อให้องคาพยพทั้งหมด เห็นปัญหาที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ เพื่อหาทางเชื่อมโยงกับท้องถิ่นและจังหวัดตลอดจนลุ่มน้ำอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการทำงานโดยใช้ศักยภาพของพื้นที่ วิเคราะห์ปัญหาด้วยข้อมูลต่าง ๆ ส่งให้จังหวัด ภาควิชาการจะช่วยให้การคาดการณ์แม่นยำมากขึ้น โมเดลน่านน่าสนใจในการขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้

อบรมระบบสารสนเทศจัดการน้ำ

 

“การจัดการน้ำชุมชน ชุมชนต้องเข้าใจและลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเอง โดยจะคัดเลือกพื้นที่ 10 จังหวัด ขับเคลื่อนงานตามโจทย์ปัญหาและความพร้อมของพื้นที่ จะเสริมความพร้อมของทีมวิชาการ จังหวัดและชุมชน สิ่งสำคัญคือต้องมีรายละเอียดของชุดข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ แบ่งปันข้อมูลชุมชนและความต้องการใช้น้ำที่แท้จริงไปสู่กลไกระดับจังหวัดและระดับลุ่มน้ำ และมีองค์ความรู้ตามหลักวิชาการมาประกอบการตัดสินใจวางแผนการบริหารจัดการน้ำของแต่ละภาคส่วน”

 

 

 

          

        

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง