สวทช.โชว์เทคโนโลยีจัดการอาหารส่วนเกินทำFoodBank

วันจันทร์ ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2567

การดู : 104

สวทช.โชว์เทคโนโลยีจัดการอาหารส่วนเกินทำFoodBank

แชร์ :

สวทช.โชว์ระบบจัดการอาหารส่วนเกิน ทำFood Bank ส่งต่อกลุ่มเปราะบาง แจงไม่ใช่ของเหลือ วิจัยทำแนวปฏิบัติละเอียดยิบ เพื่อตรวจสอบ ป้องกันของเสีย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจับคู่ช่วยส่งได้ฉับไว ชี้ประโยชน์นลดขยะ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำนวณคาร์บอนเครดิตได้


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนักวิจัยพบสื่อมวลชน NSTDA Meets the Press กลุ่มนวัตกรรม 2 (INC 2)  อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ประเด็นการนำวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม มาบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เนื่องจากประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่ประชากรที่มีรายได้น้อย มีปัญหาการเข้าถึงอาหารประมาณ 3.8 ล้านคน

 

๐ความมั่นคงอาหารคือ

 

  ดร.ปัทมาพร ประชุมรัตน์ หัวหน้าโครงการจัดตั้งธนาคารอาหาร(Food Bank)ของประเทศไทย กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และหน่วยงานพันธมิตร ศึกษาวิจัยสร้างต้นแบบการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย เพื่อสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคม สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร โดยการส่งต่ออาหารส่วนเกิน เพื่อช่วยลดการเกิดขยะอาหาร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ

ชุดคัดกรองการเสือมอาหาร

โดยนำองค์ความรู้ของทีมวิจัยต่าง ๆ มาดำเนินงานบนฐานความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีที่หลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณขั้นสูง เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอาหารและอาหารปลอดภัย เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง 

ดร.ปัทมาพร กล่าวว่า อาหารส่วนเกินที่มาร่วมโครงการ ไม่ใช่อาหารเหลือ แต่เป็นอาหารที่ผลิตในกระบวนการเพื่อจำหน่าย แต่ทำไว้เกิน เมื่อพ้นกำหนดหรือหมดอายุวางขายก็ต้องทำลาย จึงนำส่วนนี้มาใช้ การวิจัยจัดตั้งธนาคารอาหาร เป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร หมายถึง 1 การมีอาหารรับประทานที่เพียงพอ 2 การเข้าถึงอาหาร 3 ระดับการเข้าถึง (เช่นการได้รับสารอาหารโปรตีนเพียงพอหรือไม่) 4 เสถียรภาพ(กรณีเกิดภัยพิบัติจะจัดส่งอย่างไร) รายงานของกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ประชากรไทยมีรายจ่ายค่าอาหารเดือนละ18,278 บาท ปัจจุบันมีผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ1แสนบาท หรือราวเดือนละ 8,300 บาท อยู่จำนวนมาก  “เท่ากับประเทศไทยมีปัญหาการเข้าไม่ถึงอาหาร มีปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร แต่ข้อเท็จจริงอีกด้าน กลับมีอาหารเหลือทิ้งทุกวัน เช่นมีคนที่ซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วมาเก็บไว้ที่บ้านแล้วลืม”

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตอาหารมักผลิตมากกว่าจำนวนที่ขายจริง จึงมีของเหลือทิ้งทุกวันราว 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก รายงานขององค์การอาหารและเกษตรและสหประชาชาติ(FAO)ระบุว่า ทั่วโลกมึอาหารเหลือทิ้งปีละ 1,300 ตัน ส่วนประเทศไทยประมาณ 4 ล้านตัน ของที่ทิ้งมีบางส่วนยังรับประทานได้

ดร. นิภา โชคสัจจะวาที  นักวิจัยอาวุโสและคณะผู้วิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กล่าวว่า ทีมวิจัยได้จัดทำแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) เพื่อกำหนดหลักปฏิบัติตั้งแต่ขั้นการรับอาหาร การเก็บรักษา การขนส่ง การแจกจ่าย หลักสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุม เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก ทำให้เย็น อุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายปลอดภัย เหมาะสมต่อการบริโภค เกิดความมั่นใจทั้งผู้บริจาคและผู้รับบริจาค รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

๐เทคโนโลยีดิจิทัลจับคู่ความต้องการอัตโนมัติ

 

ดร.นันทพร รติสุนทร ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ทีมวิจัยด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และปัญญาประดิษฐ์ (Applied Mathematics anArtificial Intelligence) พัฒนาเครื่องมือดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Food Bank มูลนิธิ SOS และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายเป็นผู้ใช้งาน แพลตฟอร์มจะช่วยนำเสนอ แนะนำตัวเลือกการจัดสรรอาหารบริจาคพร้อมตารางเส้นทางการรับส่งอาหาร ลดความเสียหายของอาหาร กระจายอาหารบริจาคได้ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานกำหนด เป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ลดภาระงาน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการอาหารบริจาคอย่างแม่นยำรวดเร็วบนฐานข้อมูลเดียวกัน รองรับการขยายฐานผู้บริจาค  การลดปริมาณอาหารส่วนเกิน ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน ช่วยลดภาระงานและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ดูแลระบบได้ดีขึ้น แพลตฟอร์มดังกล่าว เนคเทคอยู่ระหว่างหารือความร่วมมือกับ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ

 

๐สร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอนฟุตพรินต์

ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผอ.กลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า เอ็มเทค โดยทีมวิจัย TIIS ได้พัฒนาแนวทางและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอาหารส่วนเกิน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12.3 การลดขยะอาหารของประเทศ เป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Waste)  โดยTIIS จัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย  (Thai National LCI database) และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs Emission Factor: EF) จึงนำโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้กับการจัดการอาหารส่วนเกิน เช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บริจาคอาหารส่วนเกิน 50 กก. คำนวณการบริจาคครั้งนี้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น หรือลดการใช้พลังงานเท่ากับการปิดไฟกี่ชั่วโมง ข้อมูลนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริจาคเห็นรูปธรรม และช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ในอนาคตสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้ขอรับรองคาร์บอนเครดิต อาจนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดได้ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การลดขยะอาหารอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

ดร.ปัทมาพร กล่าวด้วยการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง พบว่าอาหารส่วนเกินที่ถูกทิ้งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรในการผลิต และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย การวิจัยเสนอให้เกิดมาตรการต่าง ๆ เช่น การลดหย่อนภาษี มาตรการด้านคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหาร

“การขายคาร์บอนเครดิต จากการลดขยะอาหารเกิดขึ้นจริงในประเทศเม็กซิโก ซี่งจะพลิกโฉม Food Bank จากรูปแบบการกุศล เป็นการขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ (audit) ที่จะเกิดขึ้นด้วย” ดร.ปัทมาพร กล่าว

การวิจัยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดย สวทช. นำองค์ความรู้ของทีมวิจัยและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank)

#

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง