เฉียบ!สิ่งประดิษฐ์-นวัตกรรมเด็กอาชีวะใต้-ตะวันตก

วันอาทิตย์ ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2568

การดู : 116

เฉียบ!สิ่งประดิษฐ์-นวัตกรรมเด็กอาชีวะใต้-ตะวันตก

แชร์ :

กิจกรรมบ่มเพาะเสริมสมรรถนะนักประดิษฐ์อาชีวศึกษา  ‘TVET Smart Idea2Innovation’ ภาคใต้และภาคตะวันตก นักศึกษาอวดโครงการแนวคิดนวัตกรรมล้ำ เครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน เครื่องแต่งกายร่วมสมัยสีสกัดจากใบเงาะนาสาร 

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จัดกิจกรรม’TVET Smart Idea2Innovation : สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอาชีวศึกษาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้ ประจำปี 2568 ภาคใต้และภาคตะวันตก มี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. เป็นประธานเปิด ที่โรงแรมหัวหินแกรนด์ แอนด์ พลาซ่า จ..ประจวบคีรีขันธ์  เมื่อวันที่ 15 มีค.68

ภายในงานมีตัวอย่างผลงานที่ได้รับทุน โครงการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสิ่งประดิษฐ์ ระดับอาชีวศึกษา (Invent Plus) มาจัดแสดง เช่น ตู้อบและรมควันปลาเม็งระบบอัตโนมัติยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์แว๊กซ์กำจัดขนอโลเวร่าพลัส เครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน  

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.วช. กล่าวว่า กิจกรรม "TVET Smart Idea2Innovation มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีทักษะ สมรรถนะด้านการประดิษฐ์และนวัตกรรม ตอบความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมทักษะการวิจัย การคิดเชิงสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา มีการอบรม การประกวดผลงาน การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มีตัวอย่างผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุน อาทิ เครื่องผสมเกสรดอกทุเรียน เรือไฟฟ้าเก็บขยะ แสดงถึงศักยภาพของนักประดิษฐ์อาชีวศึกษา พัฒนานวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และชุมชน เน้นการเรียนรู้ผ่านโครงงานและการปฏิบัติจริง สอดคล้องกับทิศทางศตวรรษที่ 21 ด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกัน

ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวถึง กิจกรรม "TVET Smart Idea2Innovation เป็นการพัฒนาอาชีวศึกษาเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานและสังคม ใช้โครงงานและโครงการเป็นเครื่องมือการพัฒนานักเรียนนักศึกษาให้มีความสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม คัดเลือกผลงานที่มีศักยภาพต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์และชุมชน เน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีความจริงเสริม (AR/VR) เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สนับสนุนการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล การใช้ Blockchain จัดการข้อมูลการศึกษาและการเรียนรู้แบบปรับตัว (Adaptive Learning) นับเป็นส่วนสำคัญในการสร้างระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน

สำหรับการนำเสนอแนวคิดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่โดดเด่นแต่ละกลุ่มเรื่อง คัดเลือกจากเอกสารเชิงแนวคิด และการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาสู่นวัตกรรมพร้อมใช้  5 กลุ่มเรื่อง

ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร  3 ผลงาน 1.ผลิตภัณฑ์กล้วยหินผสมข้าวมือลอแผ่นอบกรอบ (วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา) 2.เครื่องนับจำนวนและแยกขนาดทุเรียนบนต้นด้วยระบบ AI (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี) 3.เครื่องสกัดน้ำเวิร์ทเพื่อผลิตคราฟเบียร์จากข้าวสังข์หยดอินทรีย์ระบบกึ่งอัตโนมัติ (วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง)

ด้านสาธารณสุข สุขภาพ อาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3 ผลงาน  1.รถเข็นเปลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยสายพานลำเลียง (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี) 2.ตู้อบฆ่าเชื้อรถวีลแชร์สำหรับผู้ป่วยด้วยระบบพ่นน้ำยา และรังสีคลื่นอัลตราไวโอเลต (วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก ปัตตานี) 3.เก้าอี้ส่งเสริมสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยระบบไฟฟ้า (วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา)

ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ  3 ผลงาน1.เครื่องคัดแยกขนาดและระดับความสุกของผลมังคุดด้วยระบบ AI เพื่อการส่งออก (วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง) 2.Smart Piggy Bank กล่องออมเงินอัจฉริยะ (วิทยาลัยเทคนิคกระบี่) 3.ชุดอุปกรณ์แจ้งเตือนเพื่อความปลอดภัยบนรถโดยสารสาธารณะอัตโนมัติ (วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต)

ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีวัสดุและ BCG Economy Model 3 ผลงาน 1.เครื่องกักและเก็บคราบน้ำมันเทคโนโลยีจากยางพาราเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี)  2.SASI ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายร่วมสมัยสีสกัดจากใบเงาะนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี (วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี)3.เครื่องหยอดอาหารพลังงานเเสงอาทิตย์ (วิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ)

ด้านคุณภาพชีวิต และ Soft Power 3 ผลงาน 1.ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวจากข้าวสังข์หยดอินทรีย์ (วิทยาลัยเทคนิคพัทลุง) 2.ผลิตภัณฑ์มูสโฟมล้างมือเสริมสารยูจีนอลสกัดจากสมุนไพร (วิทยาลัยการอาชีพเกาะสมุย) 3.ผลิตภัณฑ์โปรตีนบาร์ไก่ทอดหาดใหญ่เสริมสาหร่ายผมนาง (วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา)

ข่าวอัพเดท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง