ชูนวัตกรรมเลี้ยงด้วงสาคูระบบปิดเพิ่มผลผลิตลดขัดแย้งได้โปรตีนสูง

วันศุกร์ ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2567

การดู : 98

ชูนวัตกรรมเลี้ยงด้วงสาคูระบบปิดเพิ่มผลผลิตลดขัดแย้งได้โปรตีนสูง

แชร์ :

บพข.จัดให้ งานวิจัยพัฒนาอาหารจากแมลง แก้ปมด้วงสาคูให้เลี้ยงโรงเรือนระบบปิดกึ่งอัตโนมัติ ทำสูตรอาหารใหม่ ได้ผลดี โตวัยกว่า น้ำหนักเพิ่ม ลดขัดแย้งกับเกษตรกรปลูกมะพร้าว สาคู

มีตบอลด้วงสาคู

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แจ้งว่า ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการนวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ  มี ผศ. ดร.ศศิธร หาสิน จากวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ รับโจทย์จากผู้ประกอบการจำหน่าย ส่งออกด้วงสาคูและกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูที่ประสบปัญหาคุณภาพของผลผลิต จากของเสียในระบบเลี้ยง

อาหารสัตว์

โครงการนวัตกรรมดังกล่าว ประกอบด้วยงานวิจัยย่อย  1.การพัฒนาต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ  2.การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู  และ 3. จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพจากของเสียที่ได้จากระบบการเลี้ยง

ระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อลดปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม การส่งกลิ่นรบกวนชุมชน การหลุดรอดของตัวเต็มวัยที่อาจไปก่อความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตกรผู้ปลูกต้นสาคู และการเพิ่มความสะดวกสบายในการเพาะเลี้ยง เน้นการประหยัดน้ำ อาหาร และพื้นที่การเลี้ยง โดยออกแบบกล่องเลี้ยงหนอนด้วงสาคู ติดตั้งชุดกลไกอัตโนมัติ ในการเคลื่อนย้าย เติมอาหารและเก็บเกี่ยวผลผลิตตัวหนอนเมื่อครบรอบการเลี้ยง มีชุดเติมอาหารและน้ำ ระบบชะล้าง ระบายน้ำเสีย    ชุดตรวจวัดระบบนิเวศ ติดตั้งเซนเซอร์ภายในกล่องเลี้ยงเพื่อวัดอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแก๊สต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยง พร้อมระบบเก็บข้อมูล ติดตามผลแบบเรียลไทม์ เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย ควบคุมง่าย

 ด้านการพัฒนาสูตรอาหารเลี้ยงหนอนด้วงสาคู พัฒนา  2 สูตรคือ สูตรตัวอ่อนด้วงสาคู และสูตรตัวเต็มวัย โดยใช้พืชอาหารและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต มาผลิต ส่วนผลิตภัณฑ์ต้นแบบสารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพ ก็เป็นผลพลอยได้ จากการจัดการของเสียของการเลี้ยงด้วงสาคู นำของเสียมาใช้ประโยชน์

“การเลี้ยงด้วงสาคูในกล่องเลี้ยงระบบปิด ออกแบบให้ได้ผลผลิต 1 กก.ต่อกล่อง ปรากฏว่า ได้ผลผลิตด้วงสาคูประมาณ 1.1 กก.ต่อรอบการเลี้ยง เพียง 20 วัน จากเดิมการเลี้ยงในโรงเรือนใช้เวลา 35 วัน ตัวด้วงสาคูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่พัฒนาขึ้น มีโปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิม”

ผศ. ดร.ศศิธร กล่าวอีกว่าคณะผู้วิจัยเห็นว่า ผู้บริโภคอาจกลัวรูปลักษณ์ด้วงสาคู จึงต่อยอดผลผลิต  เป็นอาหารเพื่อสุขภาพในรูปแบบอาหารจากแมลงมีตบอลด้วงสาคู และ ไอศกรีมด้วงสาคู เพื่อเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้บริโภคได้ง่าย ทั้งนี้ด้วงสาคูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้โปรตีนสูง

ต้นแบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ อยู่ระหว่างการขอสิทธิบัตร มีภาคเอกชนสนใจ ขอจองสิทธิ์การนำเทคโนโลยีการเลี้ยงไปใช้ประโยชน์ทางการค้าแล้ว ส่วนการพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงด้วงสาคู ร่วมกับ หจก. พี.เจ ซัลเลต ดำเนินการแล้วเสร็จ ทดลองใช้งานจริงกับลูกฟาร์ม อยู่ระหว่างการขออนุญาต ขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายทางการค้า

การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากด้วงสาคู ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ลดการใช้สารเคมีในการควบคุมแมลง ลดการปนเปื้อนสารพิษ ลดของเสีย แก้ปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนเรื่องกลิ่นจากการเลี้ยง ลดการหลุดรอดของด้วงสาคูตัวเต็มวัยที่เป็นศัตรูพืช ซึ่งเป็นปมขัดแย้งระหว่างผู้เพาะเลี้ยงด้วงสาคูและผู้ปลูกต้นสาคูเพื่อจำหน่าย ทั้งเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคตของประเทศได้

การเพาะเลี้ยงด้วงสาคู มีปัญหาการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงฯ ส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต สภาพแวดล้อมและชุมชน เช่น ลำไส้ด้วงสาคูมีสีดำ เนื้อมีกลิ่นเหม็น เกษตรกรผลิตด้วงสาคูไม่ได้ทั้งปี เพราะสภาพแวดล้อม ขาดความต่อเนื่องในการแปรรูประดับอุตสาหกรรม การเลี้ยงในโรงเลี้ยงมีปัญหาเรื่องแมลงอื่นเข้ามารบกวน วางไข่และกินอาหารที่เน่าเสีย เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรา ไร ศัตรูของการเลี้ยง ได้จำนวนผลผลิตไม่แน่นอน มีปัญหาการหลุดรอดของตัวเต็มวัยของด้วงสาคู เป็นศัตรูพืชของมะพร้าวและสาคู ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้เลี้ยงด้วงสาคูกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและสาคู

ทีมวิจัยโครงการนวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ มี ผศ. ดร.ศศิธร หาสิน จากวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหัวหน้า ผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, อาจารย์ ดร.พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, นางสาวพัฐทกรณ์ มานุพีรพันธ์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ นายวทัญญู บุญเสริมยศ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เจ. ซัลเลต #

ข่าวที่เกี่ยวข้อง