ท้าโลกเดือดชวนปลูกสตรอว์เบอร์รี่กลางกรุง

วันอังคาร ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

การดู : 156

ท้าโลกเดือดชวนปลูกสตรอว์เบอร์รี่กลางกรุง

แชร์ :

ทีมวิจัย ม.นเรศวรโชว์ผลงานท้าทายโลกเดือด ปลูกสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน89ในโรงเรือนอัจฉริยะกลางกรุง ผู้สนใจเข้าดูได้ แจกสูตรให้ทำต่อผลตอบแทนสูง

รายงานแจ้งว่า ในโอกาสที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 65 ปี  มีการมอบรางวัล NRCT Award ยกย่องเชิดชูผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่แก้ไขปัญหาของประเทศ รวม 29 ผลงาน หนึ่งในจำนวนนั้น สื่อมวลชนให้ความสนใจผลงานวิจัยสตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 และการปลูกสตรอว์เบอร์รีในโรงเรือนอัจฉริยะ โดย รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผอ.สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เป็นหัวหน้าคณะวิจัย

สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ปรับปรุงพันธุ์โดยความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและมหาวิทยาลัยนเรศวร ระหว่างปี พ.ศ. 2557- 2563 มีจุดเด่นให้สารแอนโทไซยานิน(Anthocyanin)สูง (มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ลดการอักเสบ ลดคอเลสเตอรอล ต้านไวรัส) แต่มีปัญหาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากผิวเปลือกบาง ช้ำ เสียหายง่าย ทั้งขณะเก็บเกี่ยวและระหว่างการขนส่ง อายุการเก็บรักษาสั้น

งานวิจัยมีเป้าหมายเพื่อยืดอายุผลสตรอว์เบอร์รีพันธุ์ พระราชทาน 89 ขณะเก็บรักษา ด้วยสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 1.0-2.0 % และสารละลายเมทิล- จัสโมเนทความเข้มข้น 100 mM (ไมโครเมตร) พัฒนาคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว ให้คงค่าสีแดงของผิว ลดการเกิดโรคหลังการเก็บเกี่ยวให้ได้ขนาดผลใหญ่กว่า

การชะลอการสุก โดยเคลือบผลสารละลายไคโตซานความเข้มข้น 1 - 2 % ยืดเวลาได้นาน 6 วัน ที่อุณภูมิ 5°C ลดการสูญเสียน้ำหนัก ส่วนการพัฒนาสีผิว จุ่มด้วยสารละลายเมทิลจัสโมเนท ความเข้มข้น 100 mM ช่วยให้ได้สีผิวดีระหว่างเก็บรักษา โดยเฉพาะ ค่าสีแดง โดยรวมทำให้ สตรอว์เบอร์รีพันธุ์พระราชทาน 89 ผลใหญ่ กลิ่นหอม รสชาติหวานอมเปรี้ยว ผลผลิตสูง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

ก่อนหน้านี้มูลนิธิโครงการหลวงปลูกสตรอว์เบอร์รี่บริเวณดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง ดอยอ่างขาง อ.ฝาง  แม่แฮใหม่ อ.แม่แตง แม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่  คณะผู้วิจัยสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว เห็นว่าในภาวะโลกเดือดอุณหภูมิสูงขึ้น กระทบต่อการเกษตร ระบบนิเวศทั่วโลก ทางออกของการผลิตอาหาร คือปลูกพืชในโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ ต้นทุนสูง มีข้อดีที่ผลิตได้ตลอดปี คุณภาพสูง ประเทศไทยมีภูมิอากาศดี การใช้เทคโนโลยีการเพาะปลูกจะเพิ่มศักยภาพ พัฒนาคุณภาพ การเกษตรในระยะยาว

คณะวิจัยได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านการปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมความรู้และทักษะด้านเกษตรสมัยใหม่แก่เกษตรกร และผู้สนใจ การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ต้องเลือกพันธ์เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและตลาด ทนทานต่อ โรค ให้ผลผลิตสูง ต้นพันธุ์นิยมปลูกด้วยไหล และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การเตรียมระบบปลูก ใช้ภาชนะที่ระบายน้ำได้ดี เช่น กระถาง พลาสติกหรือต่อ PVC สำหรับการปลูกโดยเฉพาะ วางชั้นสตรอว์เบอร์รี่ห่างกัน 20-30 เซนติเมตร ให้แสงแดด ส่องถึง อากาศถ่ายเทดี  ให้ปุ๋ยละลายน้ำ สำหรับไฮโดรโปรนิกส์ (ปุ๋ย A - B ทุก 3 วัน ความเข้มขัน 0.4 ppm ให้น้ำ 200 มล./ต้น/วัน รายละเอียดการให้ปุ๋ย งานวิจัยได้จัดทำสูตรเผยแพร่ สตรอว์เบอร์รี่รุ่นที่คณะวิจัยปลูก ออกดอกติดผลตั้งแต่เดือนตุลาคม ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้ระบบปลูกพืชในโรงเรือนอัจฉริยะ สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ระหว่างวันจันทร์- ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น ประสานงานกับเจ้าหน้าที่โครงการ 0636392697  E-mail: peerasakc@nu.ac.th

รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า การปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ในโรงเรือนอัจฉริยะ ต้องควบคุมอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การลดอุณหภูมิด้วยการพ่นน้ำเป็นละอองหมอก ต้นทุนการทำโรงเรือน 800,000 บาท ต่อพื้นที่ 80 ตารางเมตร ปลูกได้ 300 ต้น ผลผลิตราคาขาย กก.ละ 600 บาท  ค่าก่อสร้างติดตั้งโรงเรือนมีราคาสูงเพราะต้องแข็งแรง สวยงาม หากเกษตรกรจะลดค่าใช้จ่าย ลงทุนเชื่อมเหล็กเอง ค่าลงทุนตารางเมตรละ3,000 บาท รวม 240,000 บาท ค่าระบบพ่นหมอก ผสมปุ๋ย ระบบน้ำอัตโนมัติ รวม 300,000 บาท ได้ผลผลิต 3-4 ครั้งต่อรอบการผลิต  หลังการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ยังใช้ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ได้  จนถึงฤดูปลูกสตรอว์เบอร์รี่ครั้งใหม่ เดือน ตุลาคม 2568

ข่าวที่เกี่ยวข้อง