ส่งนักวิทย์รุ่นเยาว์ (YSC)อวดศักยภาพ 3 เวทีวิทยาศาสตร์โลก
วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
การดู : 36

แชร์ :
สวทช. ผนึกกำลังวช. SCB พัฒนานักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ สร้างสรรค์โครงงานนวัตกรรม คัดจากนักเรียนทั่วประเทศเกือบ 6,500 คน ได้ 7 ผลงาน ส่งไปประกวด 3 เวทีโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา เจนีวา
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) แถลงข่าวที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ถนนโยธี เรื่องความร่วมมือการสนับสนุนเยาวชนไทย ในการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) เพื่อเข้าร่วมเวทีการแข่งขัน ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับนานาชาติชั้นนำ 3 เวที ได้แก่ Regeneron International Science and Engineering Fair 2025 (Regeneron ISEF 2025), Genius Olympiad 2025 และ The 50th International Exhibition of Inventions Geneva ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ให้การสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 5
โครงการ YSC ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 27 มีโครงงานส่งเข้าประกวด 2,429 รายการ จากนักเรียนทั่วประเทศ 6,442 คน อาจารย์ที่ปรึกษา 1,555 คน เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Regeneron ISEF 2025 ณ เมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 10 – 20 พ.ค. 68 ได้แก่
1.BeeShield: การพัฒนาอุโมงค์ทางเข้าป้องกันไรผึ้งโดยใช้พฤติกรรมการเข้ารังของผึ้งและการตอบสนองของไรต่อกรดฟอร์มิก จาก โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์
2.การสังเคราะห์โมเลกุลเซนเซอร์ฐานสารสีย้อมเคอร์คูมินสกัดจากขมิ้นชันสำหรับตรวจวัดแอลดีไฮด์สายยาว ซึ่งเป็นสารบ่งชี้โรคมะเร็งปอด โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย
3.การพัฒนาอุปกรณ์เชิงสีสำหรับการตรวจวัดคอร์ติซอลในน้ำลายโดยใช้อนุภาคทองคำนาโนดัดแปรด้วยซิสเทอีน – โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
4.การพัฒนาอนุภาคนาโนจากสมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นการงอกใหม่ของ พลานาเรียสายพันธุ์ Dugesia japonica สำหรับการรักษาบาดแผลเพื่อต่อยอดเป็นนวัตกรรมแผ่นปิดบาดแผล – โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
5.ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงมุมในเขื่อนกันคลื่นแยกต่อลักษณะของชายฝั่ง–โรงเรียนกำเนิดวิทย์
6.การศึกษาแบบจำลองสามมิติและแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของพฤติกรรมการพลิกตัวกลับในกิ้งกือกระสุนพระอินทร์ – โรงเรียนกำเนิดวิทย์
นอกจากนี้ โครงงานการศึกษาผลการใช้ไมโครแคปซูลในฟิล์มหลังคาดูดซับรังสียูวี จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ผลงานจาก YSC 2025 ยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน Genius Olympiad 2025 ระหว่างวันที่ 9-13 มิ.ย.68 ณ Rochester Institute of Technology (RIT), เมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา อีกด้วย
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ. สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้ริเริ่มการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (YSC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เพื่อสร้างเวทีแห่งโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้พัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และบูรณาการองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์โครงงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หัวใจสำคัญของโครงการ คือ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาโครงงานในสาขาที่สนใจ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง มีอาจารย์ที่ปรึกษาและนักวิจัยพี่เลี้ยงจาก สวทช. และมหาวิทยาลัยเครือข่ายให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่อาจต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน
นายวรวัจน์ สุวคนธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ว่าธนาคารเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวชนคือการพัฒนาอนาคตของชาติ เวทีการแข่งขันที่ สวทช. และ วช. ได้ผลักดันให้นักเรียนมีส่วนร่วม วันนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างทักษะด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเท่านั้น แต่ยังเปิดมุมมอง สร้างเครือข่ายระดับสากล เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างรอบด้านของเยาวชนไทย
ศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย วช.กล่าวเสริมว่า วช. สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่จัดโดย สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศูนย์ประสานงานภูมิภาค เป็นการต่อยอดการเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงานที่มีศักยภาพ ผลักดันให้เยาวชนไทยแข่งขันในระดับสากล เป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาประเทศในอนาคต
ภายในงานแถลงข่าวฯ มีตัวแทนเยาวชน YSC2024 นายปัณณธร ขุนโหร นายปีระกา พวงทอง และอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายวิเชียร ดอนเเรม จากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ซึ่งได้รับรางวัลจาก The 50th International Exhibition of Inventions Geneva เมื่อเดือนเม.ย. 68 ณ Palexo Geneva, Switzerland โครงการ การพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อตรวจหาเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (M. Tuberculosis) จากการตรวจเสมหะด้วยวิธี Acid-Fast Bacillus (AFB) ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เป็นตัวอย่างความสำเร็จจากการแข่งขัน
ข่าวอัพเดท

CIBA DPU เปิดกลยุทธ์เตรียมบัณฑิตธุรกิจระหว่างประเทศสู่เวทีการค้าโลก
วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

ส่งนักวิทย์รุ่นเยาว์ (YSC)อวดศักยภาพ 3 เวทีวิทยาศาสตร์โลก
วันอาทิตย์ ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

Amazing Krabi Green Guide Fest ชูต้นแบบจุดหมายสีเขียว
วันพฤหัส ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

เดินหน้าแก้ท่วม-แล้งระดับพื้นที่-เชียงใหม่ เชียงรายพัฒนาระบบทำนาย
วันพุธ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2568

คืนชีวิตให้(คนทำ)“กะปิ” เกาะลิบง
วันอังคาร ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
