ชาวอีสานกังวล “ยาเสพติด” กับดักพัฒนาพื้นที่
วันเสาร์ ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568
การดู : 77

แชร์ :
SDG Move ระดมความคิด ความต้องการพื้นที่ภาคอีสาน ชี้ มีคะแนน SDG Index ความเสี่ยงร่วม 9 ประเด็น ผู้ร่วมเวทีสะท้อนปัญหา “การศึกษา-ยาเสพติด-เกษตรกรรม” ต้องถูกเร่งแก้และพัฒนา

ผศ.ชล บุนนาค ผอ.ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) เปิดเผยว่า คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คณะทำงานระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “นำเสนอข้อมูลความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับภูมิภาคและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียระดับพื้นที่ (ภาคตะวันออกเฉียง)” โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน ปีที่ 3 ณ โรงแรมภูพานเพลซ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) กลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ระดับจังหวัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ประเทศที่ยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในโอกาสนี้ ศ.ดร.ทศวรรษ สีตะวัน รองอธิการบดี ด้านแผน ยุทธศาสตร์ นวัตกรรม และพันธกิจสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้นำเสนอบทบาทมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่าการพัฒนาภายในถือเป็นต้นน้ำสำคัญที่ขับเคลื่อน 3 ด้าน คือ การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ปัญหาหลักที่มหาวิทยาลัยให้ความสนใจและเร่งแก้ไข ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษา การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การลงทุนพัฒนานวัตกรรม และเศรษฐกิจฐานรากถูกควบคุมด้วยต่างประเทศ มีการดำเนินการที่หลากหลายเพื่อเร่งรัดขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะ และการสนับสนุนการทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนมากขึ้น
ทีม SDG Move นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจาก SDG Index ระดับจังหวัดและระดับภูมิภาคแก่พื้นที่ พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประเด็นความเสี่ยงร่วมกัน 9 เป้าหมาย ได้เเก่ SDG 2 ยุติความหิวโหย SDG 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG 5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน SDG 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง และ SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้านเวทีรับฟังสะท้อนประเด็นความต้องการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกลไกการขับเคลื่อน ววน. เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการนำเสนอแลกเปลี่ยนผลการประชุมระดมความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ซึ่งเป็นภาคีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสังเกตการณ์และรับฟังความคิดเห็น พบว่าปัญหาร่วมสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต้องเร่งแก้ไขที่สำคัญ เช่น การศึกษาที่ยังไม่เอื้อต่อผู้เรียน ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่นที่เสพยาบ้าและบุหรี่ไฟฟ้า ปัญหาความอยู่รอดของเกษตรกร เนื่องจากต้นทุนแฝงในการผลิตค่อนข้างสูงสวนทางกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำ อีกทั้งอยากให้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาร่วมพัฒนาการเกษตรในพื้นที่
ข่าวอัพเดท

เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชี้3จุดสังเกตตึกถล่มเผชิญคลื่นแผ่นดินไหวดันดินอ่อน
วันเสาร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

2 ช่องทางขอตรวจอาคารแผ่นดินไหว กทม. – กรมโยธา
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมยินดี 61 ปีเดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนามาตรวิทยารังสีเพื่อความปลอดภัย
วันพฤหัส ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568
