ทีมวิจัยเตือนระวังน้ำท่วมกรุงเก่า

วันอังคาร ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2567

การดู : 147

ทีมวิจัยเตือนระวังน้ำท่วมกรุงเก่า

แชร์ :

ทีมวิจัย เตือนระวังกรุงเก่า น้ำท่าจะสูงเกินเกณฑ์ กระทบริมฝั่งอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และ กทม. ช่วงน้ำขึ้น ชี้ฝนยังมากทั้งภาคเหนือตอนบน อีสาน และตะวันตก พิจิตร-สุโขทัยอ่วมสุดท่วมกินพื้นที่เกิน 1 แสนไร่

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยแผนงานการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ ระยะที่ 1 ทุนวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังน้ำท่วมปี 2567 ว่ามีแนวโน้มปริมาณน้ำมากที่จ.พระนครศรีอยุธยา คาดว่าในอีก 10 วันข้างหน้า ปริมาณน้ำท่าเพิ่มจาก 1,476 ลบ.ม. เป็น 2,209 ลบ.ม. ส่งผลต่อพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในช่วงน้ำขึ้น

รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

 

การวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel–1A  ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) พบพื้นที่น้ำท่วมครอบคลุมภาคเหนือตอนบนและภาคกลางในเขตลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำวัง และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขนาด 609,308 ไร่ รวม12 จังหวัด พื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ จ.พิจิตร และจ.สุโขทัย (เกิน 100,000 ไร่) โดยปริมาณน้ำฝนยังมีมาก บริเวณฝั่งตะวันออกของภาคเหนือตอนบน รวมถึงตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก

สถานการณ์ของเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเก็บกัก 49% (ปริมาตรที่ยังรับได้ 6,865 ล้านลบ.ม.) เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำเก็บกัก 80% (รองรับได้อีก 1,892 ล้านลบ.ม.) เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณเก็บกัก 50% รองรับได้อีก 466 ล้านลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณเก็บกัก 33% ปริมาตรที่รองรับได้ 642 ล้านลบ.ม. เขื่อนกิ่วคอหมา ปริมาณน้ำเก็บกัก 76% ปริมาตรที่รองรับได้อีก 41 ล้านลบ.ม.เขื่อนกิ่วลม ปริมาณน้ำเก็บกัก 53% ปริมาตรที่จะรับได้ 52 ล้านลบ.ม.

ค่ำวันที่ 10กย67 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศ เฝ้าระวัง!!! น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 13 - 18 ก.ย. 67 โดยระบุว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักบางแห่ง  ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง น้ำท่วมฉับพลัน บริเวณที่ลุ่มต่ำและชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ รวมทั้งน้ำป่าไหลหลาก 

ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง จ.ลพบุรี สระบุรี  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และสตูล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง