วิศวกรจิตอาสาฟื้นเชียงรายสู่เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

วันพุธ ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การดู : 94

วิศวกรจิตอาสาฟื้นเชียงรายสู่เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ

แชร์ :

สกสว.หนุนทีมวิศวกรจิตอาสา เดินเท้าสำรวจพื้นที่กระทบจากมหาอุทกภัยเชียงราย ชี้กู้แม่สายต้องอีก 3 เดือน จับมือนายก อบจ. ฟื้นฟู ทำโมเดล เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ รับภัยพิบัติทุกรูปแบบ ส่งข้อมูลให้กมธ.ภัยธรรมชาติฯ และ สกสว. ขอระบบเตือนภัย

สภาพอาคารบ้านเรือนที่แม่สาย

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นักวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย นำวิศวกรจากสมาคมและมูลนิธินายช่างไทยใจอาสาลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย แนะนำการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อ.เมืองและอ.แม่สาย โดยเฉพาะระบบไฟฟ้า ระบบโครงสร้าง ถนนหนทาง ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อการสัญจรและขนส่งสินค้าการเกษตร การซ่อมแซม สร้างบ้านให้ประชาชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยจะจัดทีมไปทุกสัปดาห์เพื่อแบ่งเบาภาระของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และผู้อำนวยการจังหวัด ได้ออกหนังสือขอรับการสนับสนุนบุคลากรสำรวจบ้านเรือนราษฎรที่เสียหายจนอยู่อาศัยไม่ได้ รวมถึงคำนวณออกแบบรายละเอียด ทำรูปแบบ ประมาณราคา

ศ. ดร.อมร พิมานมาศ

“เราจะรวบรวมข้อมูลความเสียหาย แนวทางซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ถูกน้ำกัดเซาะให้แก่ อบจ. ใช้ประกอบการกรอกแบบแสดงรายการปริมาณงานและราคาสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนด สำหรับซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายตามมติ ครม. รวมถึงคณะกรรมาธิการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอรับการสนับสนุนระบบเตือนภัย ข้อมูลสำหรับการคาดการณ์และการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจน สกสว. เพื่อสนับสนุนทุนวิจัยและการใช้ประโยชน์ด้านการจัดการภัยพิบัติให้ครบทุกมิติและบูรณาการอย่างรอบด้าน จะพยายามประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย” ศ. ดร.อมร กล่าว

ทีมวิศวกรจิตอาสาและนศ.มทร.ล้านนาเชียงราย

นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.)เชียงราย กล่าวว่า จะตั้งคณะทำงานร่วมกับทีมวิศวกรจิตอาสา ช่วยประสานท้องถิ่นทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยเฉพาะเทศบาลตำบลแม่สายและเทศบาลตำบลแม่สายมิตรภาพ สำรวจพื้นที่ หาพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสร้างหมู่บ้านใหม่ ทดแทนบ้านเดิมที่ได้เสียหายอย่างหนักบริเวณบ้านอยู่สุข อ.เวียงแก่น 13 หลัง บ้านห้วยทรายขาว อ.เวียงป่าเป้า ซึ่งดินถล่มจากภูเขา ทำให้บ้านกว่า 10 หลังพังทลาย จุดก่อสร้างโรงเรียน บ้านห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า ต้องพิจารณาจะสร้างที่เดิมหรือย้ายจุดใหม่

อทิตาธร วันไชยธนวงศ์

นอกจากนี้ต้องเร่งซ่อมแซมถนนบ้านเมืองงิมที่ชำรุดเสียหาย จากพนังกั้นน้ำแม่กกแตก น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือน กัดเซาะถนน ไหล่ทางทรุดตัว ทีมวิศวกรเสนอให้ทำพนังคอนกรีตเพื่อความแข็งแรง ยกคันดินให้สูงขึ้น ปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับน้ำ

ถนนบ้านเมืองงิมถล่มชำรุดเสียหาย

สำหรับแผนการระยะสั้นของ อบจ.เชียงราย จะฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติอย่างน้อยร้อยละ 80 เพื่อสร้างรายได้ ทั้งการเกษตรและการท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี โดยจัดงานมหกรรมไม้ดอกอาเซียนเชียงรายริมน้ำกกและอ.แม่สายบริเวณถ้ำพญานาค ต.โป่งงาม นำกิจกรรมการค้าขายและชาติพันธุ์ต่าง ๆ รวมไว้ที่แม่สาย เชิญชวนคนไปท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตัวเมืองเชียงรายหลังน้ำท่วม

แผนการรับมือภัยพิบัติระยะยาว จะปรับปรุงระบบเตือนภัย นำบทเรียนจากมหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม มาคุยกันทุกภาคส่วน วางระบบป้องกันแบบไม่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากนัก โดยให้ความรู้กับประชาชน สร้างการรับรู้ เข้าใจไปด้วยกัน ไม่ให้ลืม ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการ เช่น ความอ่อนไหวของพื้นที่ สาเหตุของปัญหาภัยพิบัติแต่ละประเภท และแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อสนับสนุนการทำงานของ อบจ. ร่วมกับทุกภาคส่วน

ผู้แทน สกสว. และ ผศ. ดร.รัฐพล เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย เสนอจัดทำแผนที่ความเสี่ยงและระบบเตือนภัย ครอบคลุมภัยพิบัติทุกด้าน ได้แก่ แผ่นดินไหว ดินถล่ม น้ำท่วม และฝุ่นควัน PM2.5 เนื่องจากเชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง การจัดการด้านน้ำจะต้องมีระบบโครงสร้าง แก้มลิง ระบบระบายน้ำ เป็นแพคเกจ "โมเดลเชียงราย เมืองสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นการจัดการเมืองที่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดการทรัพยากรน้ำ/ของเสีย การดูแลสภาพอากาศ และการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ตลอดจนเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายใต้แนวคิดการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตทีดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งนายก อบจ.เขียงราย เห็นด้วย 

นายชูเลิศ จิตเจือจุน อุปนายกสมาคมฯ และ อ.วัฒนพงศ์ หิรัญมาลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เลขาธิการสมาคมฯ รายงานการสำรวจความเสียหายของอ.แม่สาย ภาพรวมยังสาหัสต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างต่ำ 3 เดือน บ้านริมน้ำจำนวนมากมีดินโคลน มีข้อจำกัดของพื้นที่ ต้องเดินเท้านำเครื่องจักรขนาดเล็กเข้าช่วยเหลือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง