คึกคักดูดาวกลางสวนเบญจกิติ
วันอาทิตย์ ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2567
การดู : 69
แชร์ :
สดร.ขนคาราวาน 80 กล้องดูดาว ติดตั้งกลางสวนเบญจกิติให้คนกรุงฯชมปรากฏการณ์บนท้องฟ้า ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก สถานีอวกาศเฉียดผ่านให้เห็นกับตา รมว.ศุภมาศ อิศรภักดี ชี้ดูดาวเป็นการกระตุ้นเยาวชน สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดกิจกรรมดูดาวกลางกรุง Starry Night over Bangkok 2024 ที่ลานอัฒจันทร์ สวนเบญจกิติ คลองเตย ระหว่างเวลา 17.00-22.00 น. วันที่ 7 ธค.67 ซึ่งเป็นคืนที่ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีประชาชนหลายพันคนไปจับจองที่นั่งตั้งแต่ก่อนเวลา ต่อคิวรอชมผ่านกล้องดูดาวทีเตรียมไว้ถึง 80 กล้อง เต็มพื้นที่ลาน ส่วนใหญ่ไปกันเป็นครอบครัว มีเด็กเล็กและเยาวชนรวมด้วยจำนวนมาก
น.ส.ศุภมาศ อิสรภักดี รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่ากิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สอง ปีที่แล้วมีผู้เข้าร่วม 12,000 คน การดูดาวเป็นกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนัก ความตื่นตัวทางด้านวิทยาศาสตร์ กับเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น กระทรวง อว. จะส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เป็นกลไกให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ตอนท้ายกล่าวขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมจัดกิจกรรม และร่วมดูดาวผ่านกล้องกับประชาชนที่อยู่ในบริเวณงาน ข่าวแจ้งว่า การเลือกใช้สวนป่าเบญจกิติ จัดกิจกรรมเนื่องจากเป็นพื้นที่โล่ง รองรับประชาชนได้มาก
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สดร. กล่าวว่า ภายหลังจัดกิจกรรมนี้ เมื่อ 23ธ.ค.66 มีผู้เข้าร่วม 12,000คน มีกระแสเรียกร้องให้จัดอีก จึงเลือกจัดตรงกับวาระที่ดาวพฤหัสบดีโคจรใกล้โลกที่สุด วันที่7 ธ.ค.67 โดยแจ้งด้วยว่า เวลา 18.29 น.สถานีอวกาศนานาชาติ จะโคจรผ่านหน้าดวงจันทร์พอดี ยิ่งทำให้ผู้อยู่ร่วมในงานมีความสนใจกับกิจกรรมดาราศาสตร์ครั้งนี้อย่างมาก
ก่อนหน้านี้ ผศ. ดร.วิภู รุโจปการ รอง ผอ.สดร.กล่าวว่าดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่หัวค่ำ การสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นลวดลายของแถบเมฆ พายุ จุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดีได้
ภายในงานมีกิจกรรมสนใจ ได้แก่ ถ่ายภาพดวงจันทร์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีผ่านโทรศัพท์มือถือ รู้จักท้องฟ้าและกลุ่มดาวที่น่าสนใจผ่านแอปพลิเคชันดูดาวNAPA เรียนรู้ดูดาวด้วยตาเปล่า มีการติดตั้งบอลลูนดาวเคราะห์ให้ได้เก็บภาพความประทับใจ การเรียนรู้กลุ่มดาวผ่าน Stellar Light Box
ข่าวอัพเดท