วิจัยชุมชนมุ่งสุรินทร์ HUBเส้นไหมคุณภาพ

วันอังคาร ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การดู : 89

วิจัยชุมชนมุ่งสุรินทร์ HUBเส้นไหมคุณภาพ

แชร์ :

นักวิจัยวิศวฯมทร.อีสาน ทุน บพท. จัดเทคโนโลยีพร้อมใช้แก้ปัญหาผลิตไหมสุรินทร์ ได้ต่ำกว่าความต้องการ เริ่มที่ต้นน้ำ จัดการให้ได้หม่อนคุณภาพดี ปรับเครื่องจักร ได้ประสิทธิภาพเพิ่ม50% ตั้งเป้าใหญ่จะเป็นHUBเส้นไหม

ผศ. ดร.มาโนช ริทินโย คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นักวิจัยจากโครงการการพัฒนาศักยภาพการผลิตผ้าไหม ผลิตภัณฑ์และการบริการสร้างสรรค์ ตามรอยอารยธรรมของอีสานใต้ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ สนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า จ.สุรินทร์เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่ขึ้นชื่อ ดังนั้น โจทย์การพัฒนาผ้าไหมให้มีคุณภาพจึงเป็นโจทย์แรกของการทำงาน โดยในระยะต้นน้ำต้องยกระดับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

ผศ.ดร.มาโนช ริทินโย

การสำรวจการผลิตเส้นไหม พบว่าจ.สุรินทร์ผลิตเส้นไหมได้เพียงปีละ 37 ล้านบาท สวนทางกับความต้องการของตลาดในจังหวัด ที่ต้องการปีละ 1,000 ล้านบาท เพื่อทอเป็นผืนผ้า ต้องนำเข้าจากจังหวัดใกล้เคียงอย่างจ.ชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

การทำงานช่วงต้นน้ำ ต้องผลิตเส้นไหมให้ได้มากขึ้น จึงแก้ปัญหาด้วยการมีใบหม่อนคุณภาพ ปริมาณมากพอในการเลี้ยงหนอนไหม จากที่เคยผลิตหม่อน 1 ไร่ ได้ใบหม่อน 900 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งไม่พอเลี้ยงไหม จึงวิจัยการจัดการดิน น้ำการตัดแต่ง ให้ได้ใบหม่อนคุณภาพ ยกระดับการเลี้ยงไหมได้ดีขึ้น”

ช่วงกลางน้ำ นักวิจัยแก้ปัญหาการเลี้ยงหนอนไหมแบบซ้อนรุ่น ปรับการให้อาหาร การจัดโรงเรือน ปรับสภาวะแวดล้อมการเลี้ยงที่เหมาะสม โดยก่อนการปรับเกษตรกรเลี้ยงไหมได้เปลือกรัง 12-15% ถือว่าปริมาณที่น้อย

หลังปรับเปลี่ยนการเลี้ยงหนอนไหม การให้อาหาร ได้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมเพิ่มขึ้นเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ โดยทุก ๆ 1 เปอร์เซ็นต์ จะได้ความยาวเส้นไหมเพิ่มขึ้นมา 30 เมตร หากเลี้ยงไหม 1 รุ่น ได้รังไหม 10,000 รัง และด้วยเปอร์เซ็นต์เปลือกรังที่เพิ่มขึ้น จะได้เส้นไหม 300,000 เมตรต่อรอบการผลิตรังไหม ทั้งนี้เปอร์เซ็นต์เปลือกรังไหมจะเปลี่ยนไปตามคุณภาพรังไหมเลี้ยง

ด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสม นักวิจัยได้พัฒนาเครื่องจักรการผลิตเส้นไหม การเตรียมเส้นไหม ประกอบด้วย เครื่องสาวเส้นไหม เครื่องช่วยฟอก ย้อมสีเส้นไหม เครื่องตี ควบเกลียวเส้นไหม เครื่องขึ้นลำมัดหมี่ เครื่องค้นหูกเส้นไหม เครื่องช่วยขึ้นม้วนเส้นไหม ทำให้ผลิตเส้นไหมได้คุณภาพเกรด A ประสิทธิภาพการผลิตสูงขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์

การทำวิจัยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป็นกระบวนการ ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้มาก ลดการซื้อเส้นไหมจากที่อื่นได้ 100 % ลดความเมื่อยล้าจากกรรมวิธีการผลิตขั้นตอนต่างๆ เป้าหมายคือการสร้างนวัตกรชุมชนที่มีทักษะการเสริมสร้าง ต่อยอด และการขยายความรู้ เพื่อการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนให้มั่นคงมากขึ้น ตั้งเป้าจ.สุรินทร์เป็น HUB ของเส้นไหม นึกถึงเส้นไหมคุณภาพต้องจ.สุรินทร์เท่านั้น”

แม่บัวไข เติมศิลป์ นวัตกรชุมชนประธานกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านห้วยบง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ กล่าวว่านักวิจัยเข้ามา ทำให้เกิดการทำงานเป็นระบบ เกิดความสามัคคีในชุมชน

แม่บัวไข เติมศิลป์

การยกระดับการทำงาน ทางกลุ่มปลุกหม่อนเลี้ยงไหม ได้รับการพัฒนาจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชัยภูมิ ที่มาส่งเสริม การพัฒนา เช่น วิธีเลี้ยงไหม วิธีสาวไหม กระบวนการต่าง ๆ การกำหนดราคาผลิตภัณฑ์จากกลุ่มฯ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

เมื่อก่อนกำหนดราคาด้วยพ่อค้าคนกลาง วันนี้เราตั้งราคาเองได้ ไม่ต้องรอพ่อค้ารับซื้อ เพราะมีตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ เราปลูกผักสวนครัวไปด้วย ช่วยลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ความสุขของแม่คือการได้สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ตัวเองและเพื่อน ๆ ในชุมชน รักษารากเหง้าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของบรรพบุรุษ แม่ภูมิใจมาก”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง