โลกร้อนร้ายเตือนระเบิดเวลา3พันอ่างเก็บน้ำ-กดราคาข้าว

วันเสาร์ ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การดู : 175

โลกร้อนร้ายเตือนระเบิดเวลา3พันอ่างเก็บน้ำ-กดราคาข้าว

แชร์ :

เตือนโลกร้อนส่งผลร้ายกว่าที่คิด ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ห่วงอ่างเก็บน้ำกว่า 3พันแห่งทั่วประเทศเป็นระเบิดเวลา เพราะฝนมาก น้ำเยอะ  ตอนสร้างไม่เท่านี้ นักธุรกิจพลังงานชี้การปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจถูกต่อราคาจากกระแสผู้บริโภครักษ์โลก กทม.ปรับทางเท้าให้มีที่หลบแดดฝน

รายงานแจ้งว่า ในงานสัปดาห์แห่งความยั่งยืน SETA 2024 และ SustainAsia Week 2024 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด Low Carbon & Sustainable ASEAN Economy ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.67 ได้มีการเสวนาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลก

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและการบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทั่วโลก หน้าร้อนก็ร้อนสุด ฝนตกไม่หยุด เกิดปรากฏการณ์อ่างเก็บน้ำ เขื่อนแตก วันนี้มีลูกระเบิดที่พร้อมจะระเบิดกว่า 3,000 กว่าลูกในประเทศไทยเพราะอ่างเก็บน้ำ เขื่อน ออกแบบมาเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนตอนที่โลกยังไม่ร้อน โลกร้อนขึ้น น้ำแข็งละลาย ทั้งหมดคือภัยธรรมชาติ อยากชวนพี่น้องร่วมชาติ ตระหนักถึงปัญหาของโลกตั้งแต่ตอนนี้

ผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล

ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถ EV ยกตัวอย่างในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขับเคลื่อน Thammasat Smart City นำระบบเทคโนโลยีมาสร้างคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในมหาวิทยาลัย ร่วมกับเอกชน เริ่มนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV Car (Electric Vehicle) มาใช้งาน พร้อมระบบเช่าระยะสั้นหรือ Car Sharing ผ่านแอปพลิเคชันและสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และท่าพระจันทร์ ซึ่งจะลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว ลดการใช้พลังงาน ลดมลพิษภายในมหาวิทยาลัย เป็นอีกหนึ่งส่วนที่จะช่วยโลก

นายพรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้บริหารความยั่งยืนกรุงเทพมหานครว่า การปล่อยก๊าซมลพิษ หรือการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของกรุงเทพ มาจาก 4 ส่วนหลักๆ อย่างแรกคือพลังงาน มากที่สุดกว่า 60% อีก 30% จากขนส่ง ที่เหลือเป็นขยะและน้ำเสีย กทม.มีมาตรการจำกัด 4 ด้าน โฟกัสที่พลังงานและขนส่ง วิสัยทัศน์ของผู้ว่าฯกทม. เปรียบกทม.เสมือนร่างกาย มีส่วนประกอบของเส้นเลือดหลัก และเส้นเลือดฝอย

การขนส่ง เส้นเลือดของกรุงเทพ มีระบบขนส่งที่เป็นรถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดินหลากหลายสาย ภายในปี 2028 คาดว่าจะมีรถไฟฟ้า 11 สาย รวมกว่า 300 สถานี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแล หน้าที่ของกทม. ทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้น ปรับผังเมืองที่เป็นเส้นเลือดฝอย ได้แก่ ทางเดินเท้า เลนจักรยาน เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน จะปรับทางเดินที่สามารถหลบแดดหลบฝนได้ 

มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่สีเขียว ป่าในเมือง และ สวน 15 นาที ในชุมชนต่าง ๆ สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งโซล่าเซลล์ตามสำนักงานเขต โรงเรียน ฯลฯ และพลังงานสะอาดที่เกี่ยวข้องกับขยะ มีเตาเผา 500 ตันต่อวัน อีก 2 ปี (2569) จะมีเตาเผา 2,500 ตันต่อวัน ทั้งหมดเป็นพลังานสะอาด 70 เมกกะวัตต์ และจะทำอีกโรงคือ 1,000 ตันต่อวัน ในปี 2569 จะลดการฝังกลบขยะเหลือเพียง 20% จากที่เคยฝังมากกว่า 50%

บนเวที Forum 1 นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ CEO & Founder บริษัท เอ แอ๊ดไวซอรี่ จำกัด กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือโลกร้อน มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โลกอาจเผชิญการแย่งชิงทรัพยากรบนแผ่นดิน ทั้งการหาดินเพาะปลูก น้ำสำหรับใช้เพื่อทำการเกษตร ผลผลิตการเกษตรน้อยลง สัตว์น้อยลงเรื่อย ๆ คนอาจอยู่ในพื้นที่เดิมไม่ได้ เคลื่อนย้ายอพยพออกนอกประเทศ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า การอพยพจะเกิดขึ้นทั่วโลก โลกร้อนจึงไม่ใช่แค่การร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียว คนทั้งโลกเสี่ยงที่จะเผชิญปัญหาสังคมด้านอื่น ๆ ตลอดจนกระทบเศรษฐกิจ เช่น ความยากจน ความขัดแย้ง สงคราม ความตึงเครียดในองค์กร การขาดแคลนทรัพยากร ขาดแคลนอาหาร เกิดโรคภัยไข้เจ็บ

นายอาทิตย์ระบุว่าเมืองไทยเรามีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน เทียบกับสัดส่วนคนทั้งโลก ประเทศไทยปล่อยก๊าซแค่ 1% ดังนั้น ต่อให้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลงครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเทียบกับทั้งโลก ไทยมีส่วนลดได้ 0.5% ซึ่งแทบไม่มีผลอะไร แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ โดยกิจการเอกชนควรประเมินความเสี่ยง  2 เรื่องคือ 1.ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.ดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น มีอะไรบ้างที่รับได้ไม่ได้ ก็ต้องไปหาทางแก้ไข 

นายวิวัฒน์ โฆษิตสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็นเนอร์ยี่ พลัส จำกัด กล่าวว่าประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย มุ่งไปที่ภาคพลังงาน การขนส่ง แต่ภาคเกษตรก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัย คิดเป็น 10% ครึ่งหนึ่งมาจากการปลูกข้าว ขณะที่ปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจกระแสโลกร้อนมากขึ้น แม้ข้าวไทยจะอร่อย ถ้าไม่รักษ์โลก อาจเกิดการต่อรองราคา จึงเป็นความกดดันที่เกษตรกรต้องปรับวิถีการเพาะปลูก ซึ่งรัฐ เอกชน ก็มีแนวทางต่างๆ ออกมาเกี่ยวกับการปลูกข้าวลดโลกร้อน  เพราะใครทำตัว High Carbon จะอยู่ยาก ภาคธุรกิจก็ไม่มีคนอยากทำงานด้วย หนึ่งในนั้นคือธนาคาร ธุรกิจต้องรายงานการปล่อยคาร์บอนไปจนถึงซัพพลายเชน หากธนาคารต้องปล่อยกู้กับธุรกิจปล่อยคาร์บอนสูง อาจขอดูแลพิเศษ หรือชาร์จดอกเบี้ยแพงขึ้น ด้วยการหามาตรการกำจัดคาร์บอน

นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ธุรกิจต้องจัดลำดับความสำคัญ สำรวจตัวเองกว่าปล่อยคาร์บอนแค่ไหน ส่วนไหนปล่อยมาก เพราะในอนาคตจะถูกบังคับให้ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ จากที่ใช้เชื้อเพลิง ก็ต้องเปลี่ยนไปใช้ EV และ สโคป 3 จะถูกถามถึงการปล่อยคาร์บอนในองค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product: CFP) ในอนาคต ต่อไปนี้ลูกค้าบริษัทใหญ่จากเดิมเทียบคุณภาพการใช้งาน ราคา แต่จะถามค่า CFP? ฝ่ายจัดซื้อก็จะเลือกสินค้าที่ค่า CFP ต่ำ เป็นต้น ขณะนี้สหภาพยุโรปมีมาตรการ CBAM สหรัฐอเมริกามีมาตรการ CCA เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า มีรายงานว่าจีน ญี่ปุ่นก็กำลังจะมีมาตรการลักษณะนี้ออกมาเช่นกัน ดังนั้นขั้นแรก ก็ต้องศึกษากฏหมายคู่ค้าด้วย

วิลาวัณย์ ปานยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเอ็มยู จำกัด กล่าวว่า ธรรมชาติส่งสัญญาณเตือนถึงโลก เช่น ดูไบ เป็นเมืองที่แห้งแล้ง กลับเผชิญกับปัญหาฝนตกบ่อยมากขึ้น เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ปรากฏการณ์หญ้าทะเลเริ่มตายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น หญ้าทะเลมีความสำคัญต่อการดูแลระบบนิเวศ ปะการังแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล เกิดการฟอกขาวจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น เมื่อบ้านของสัตว์ทะเลเสียหาย อาจเสี่ยงตายและสูญพันธุ์ ความท้าทายตอนนี้คือ คนที่มีเงินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โลกร้อนก็เปลี่ยนไปใช้ EV หรือเปลี่ยนไปทำงานแบบ Work From Home แต่ไม่ใช่ทุกคนทำได้ ทุกอย่างมีต้นทุน ภาคเกษตรไม่สามารถที่จะทำงานที่บ้านได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง