เตือนอุตสาหกรรมไทยรับมือกฎหมายลดโลกร้อน

วันอังคาร ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568

การดู : 92

เตือนอุตสาหกรรมไทยรับมือกฎหมายลดโลกร้อน

แชร์ :

อุตสาหกรรมไทยเตรียมรับแรงกระแทก หลังกฎหมาย Climate Change บังคับใช้ วิจัยพบมีเพียงรายใหญ่ กลุ่มพลังงาน สถาบันการเงิน ที่พร้อมบริหารจัดการความเสี่ยง รายกลาง รายย่อม ยังมองเป็นภาระเพิ่มขึ้น นักวิจัย มจธ. ย้ำ ธุรกิจใดไม่ปรับตัว มีผลต่อความอยู่รอด!

ผศ.ดร.ปฏิภาณ แซ่หลิ่ม รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ร่าง พระราชบัญญัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... หรือ ร่างกฎหมาย Climate Change จะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมไทย มีประเด็นความท้าทายว่า อุตสาหกรรมไทยจะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas-GHG) ให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับข้อตกลงนี้ได้หรือไม่ 

โครงการวิจัย “เราพร้อมหรือยังต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: วุฒิภาวะด้านการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในอุตสาหกรรมไทย”  ได้สำรวจระดับความพร้อมของอุตสาหกรรมไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาตัวแบบมาตรวัดทางสถิติ ที่ใช้วัดระดับความพร้อมในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจาก Climate Change และวิเคราะห์ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นำเสนอนโยบายเชิงวิชาการที่นำไปใช้ได้จริง

แนวทางการขับเคลื่อนความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

การวิจัยนี้เก็บข้อมูลจาก 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี (The Asahi Glass Foundation – AF) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพ.ศ. 2565 เป็นครั้งแรกที่มูลนิธิฯให้ทุนวิจัยในสาขาสังคมศาสตร์ (Social Sciences)  โดยใช้เวลา 2 ปี (พ.ศ.2565-2567) เก็บข้อมูลจาก 200 บริษัท ใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า แม้จะรับรู้เรื่อง Climate Change แต่ยังให้ความสนใจน้อยมาก ทั้งที่ไทยตั้งเป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน (Carbon Neutrality) ปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์( Net Zero) ปี 2065 แต่ภาคเอกชนก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือหรือให้ความสำคัญ หลายบริษัทมองว่า Climate Change ไม่ได้กระทบธุรกิจของเขาโดยตรง

งานวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมที่เริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยง Climate Change อย่างมีนัยยะ คือ สถาบันการเงิน ที่มีการปรับตัวช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการต่อยอดงานวิจัย นำ Machine Learning มาประยุกต์ใช้เปิดเผยความเสี่ยงสภาพอากาศ (Climate Risk Disclosure) ในรายงานประจำปีของสถาบันการเงิน ในฐานะตัวกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมสีเขียว การนำเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ช่วยตรวจสอบการ Greenwashing หรือจะช่วยจำแนกอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของไทย (Thailand Taxonomy)  ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ

การวิเคราะห์ปัจจัย

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยตระหนักถึง Climate Change  แต่ขาดแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน ภาครัฐจะต้องมีมาตรการทั้งบังคับและจูงใจควบคู่กัน กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนเพียงจุดเดียว เพื่อลดความซ้ำซ้อนและอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ บรรจุ Climate Change ในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝั่งและสร้างความตระหนักรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ฉะนั้น นอกจากผู้ประกอบการจะตื่นตัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและดำเนินการอย่างจริงจัง หากไม่เร่งลงมือทำวันนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะยิ่งล่าช้าออกไป ในอนาคตอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับตัวกับการจัดการความเสี่ยง Climate Change ก่อน ย่อมมีความได้เปรียบมากกว่า นี่คือข้อเสนอแนะนโยบายเชิงวิชาการจากงานวิจัย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับโลก ประเทศไทยได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) มีเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ในศตวรรษนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง