EV Chargerมาตรฐานผลงานเด็กวิศวะไฟฟ้า มจธ.

วันเสาร์ ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567

การดู : 81

EV Chargerมาตรฐานผลงานเด็กวิศวะไฟฟ้า มจธ.

แชร์ :

3 นักศึกษาวิศวฯ มจธ. ทำโปรเจกต์ปี 4 ออกแบบสร้างเครื่องอัดประจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานโลก ราคาถูก

รายงานจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) แจ้งว่า 3 นักศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันออกแบบเครื่องอัดประจุแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ  ตู้ EV Charger  เป็นโปรเจกต์ปี 4 ตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย นางสาวพลอยพรรณ สุขประเสริฐ (เนย), นายสิทธิเดช สุนันทโชติหิรัญ (ที) และนางสาวอิสระยา แก่นแก้ว (แอล)

  นายสิทธิเดช (ที) กล่าวว่า ได้ชมคลิปการทำ EV Charger สำหรับรถยนต์ EV โดยช่างไทย จึงปรึกษาอาจารย์ว่าความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่เรียนมา จะสร้างกล่องแผงวงจรเพื่อควบคุมการจ่ายไฟให้รถยนต์ EV ได้หรือไม่ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ปี 4 ขึ้น โดยจะสร้างแผงวงจรควบคุมการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับมาตรฐานเดียวกับกล่อง EV Charger ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด

 “กล่อง EV Charger ในท้องตลาด มีทั้งวงจรป้องกันไฟรั่ว ระบบสายดิน ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า ระบบสื่อสารสัญญาณเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ชาร์จ ระบบตัดไฟเมื่อพบปัญหา มีมาตรฐานสากลกำหนดไว้ชัดเจน การออกแบบและสร้างแผงวงจรเพื่อควบคุมระบบ มีเป้าหมายให้ค่าสัญญาณต่างๆ ระหว่างการทดลองชาร์จประจุเป็นไปตามมาตรฐานสากล (J1772)  โดยปี 4 เทอม 1 เป็นการศึกษาด้วยการจำลอง (Simulation) โปรแกรม การสร้างแผงวงจรและทดสอบจริง เทอม 2  รับผิดชอบด้านฮาร์ดแวร์ เช่น การทําแผ่นพรินท์ (PCB)  

นางสาวอิสริยา หรือ แอล ทำหน้าที่เขียนโค้ดและซอฟต์แวร์ กล่าวว่า เมื่อเสียบปลั๊กชาร์จเข้ากับตัวรถ ระบบจะสื่อสารสัญญาณกับรถทันทีที่เสียบปลั๊ก ชาร์จไฟเองโดยอัตโนมัติ หยุดจ่ายเมื่อประจุไฟให้แบตเตอรี่ได้ตามค่า หรือเวลาที่กำหนด (เลือกได้) ทุกขั้นตอนจะส่งข้อความแจ้งเจ้าของรถผ่านหน้าจอของตู้และแสดงบนจอมือถือ กล่อง EV Charger ต้นแบบนี้ใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสสลับแบบ 1 เฟส กำลังชาร์จสูงสุด 16 แอมป์ หรือไฟฟ้ากระแสสลับแบบ 3 เฟส กำลังชาร์จสูงสุด 32 แอมป์ ทุกกระบวนการตามมาตรฐานสากล

นางสาวพลอยพรรณ หรือเนย รับผิดชอบการหาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานของระบบต่างๆ บนแผงวงจรของ EV Charger กล่าวว่า ได้ประสานขอโครงตู้เก่าของมหาวิทยาลัย มาทำตู้ชาร์จ ทำให้ EV Charger จากต้นทุนอุปกรณ์ที่ต้องจ่ายจริงหลายหมื่นบาทก็เหลือไม่ถึงหมื่นบาท และ สามารถทำกล่อง EV Charger กล่องที่ 2 กล่องที่ 3 ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากล่องราคาหลักหมื่นในท้องตลาด ด้วยต้นทุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 5 พันบาท

ผศ.ดร.สุภาพงษ์ นุตวงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า โปรเจกต์การพัฒนาแผงวงจรควบคุมการชาร์จประจุให้กับรถยนต์ EV นี้ ต่อยอดเป็นงานของน้องรุ่นต่อไปได้หลายแง่มุม พัฒนาให้กับการชาร์จกระแสตรง การทำให้แผงวงจร 1 ชุดชาร์จไฟรถยนต์ได้พร้อมกันมากกว่า 1 คัน  ระบบข้อมูลและควบคุมการชาร์จผ่านเครือข่ายมือถือ เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะผลิต EV Charger จำหน่าย ทั้งการเลือกสั่งวัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน คุ้มราคา การปรับตั้งค่า (Set Up) สัญญาณ EV Charger ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  ตามมาตรฐานเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ EV ของไทย ที่อาจประกาศใช้ในระยะต่อไป

สิ่งจำเป็นสำหรับรถยนต์ EV ก็คือเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ทำหน้าที่อัดประจุไฟฟ้าให้กับแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในอนาคตหากจำนวนรถ EV เพิ่มมากขึ้น ความต้องการติดตั้ง EV Charger ตามที่พักอาศัยและอาคารมากขึ้น ทั้งกับรถยนต์ EV คันใหม่ หรือทดแทน EV Charger เครื่องเก่าที่ชำรุดเสียหาย แต่ EV Charger ที่ค่ายรถติดตั้งให้กับผู้ซื้อรถ รวมถึงที่จำหน่ายในร้านค้าและออนไลน์ ล้วนเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ  ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยากจะทราบว่าเครื่องนั้นมีมาตรฐาน หรือความปลอดภัยในการใช้งานมากน้อยเพียงใด เพราะประเทศไทยยังไม่มีการออกมาตรฐานตัว EV Charger ติดบ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง