ม.ฟาฏอนี พัฒนา AHSAN Trustmarkรับรองสินค้ามุสลิม
วันศุกร์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568
การดู : 21

แชร์ :
ทีมวิจัย ม.ฟาฏอนี จ.ปัตตานี สร้างมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค) ให้ธุรกิจที่ผลิตตามวิถีมุสลิมที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล ภายใต้คุณค่า 5 ประการ จาก “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ของ บพท.
ผศ. ดร.มัฮซูม สะตีแม จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เปิดเผยว่า จากการที่คณะวิจัยได้ดำเนินงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2565 ทำให้เกิดนวัตกรรม AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค) มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินตามคุณค่าความศรัทธาขั้นสูงสุดตามหลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม และชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าใจความหมายของ AHSAN ดีว่าหมายถึง “สิ่งที่ดีที่สุด” เป็นการประกอบธุรกิจในวิถีมุสลิมที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยไม่ขัดต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ประกอบอาชีพ/ธุรกิจเพื่อสร้างรายได้หรือกำไรด้วยความมุ่งมั่นพยายาม ทำอย่างดีที่สุดเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ จริงใจต่อผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องและบูรณาการอย่างลงตัวกับหลักการดำเนินธุรกิจชุมชนด้วยคุณค่า 5 ประการ (5L- Localism) ที่เรียนรู้จาก “คน-ของ-ตลาด โมเดล” ของ บพท. ซึ่งเป็นกลไกสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้ธุรกิจชุมชนเกื้อกูล
AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค) “มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์” จากงานวิจัยโดย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ร่วมกับกรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สินค้าที่ได้การรับรองจากมาตรฐาน AHSAN Trustmark บ่งบอกถึงคุณภาพสินค้าและคุณค่าทางจิตใจและความศรัทธา สินค้าต้องมาจากผู้ประกอบการที่มีหลักในการดำเนินธุรกิจชุมชน หรือ 5L ได้แก่ 1. Local Wisdom and Culture การดำเนินธุรกิจต้องไม่ขัดกับหลักการศาสนาและวัฒนธรรมที่ดีงาม มีการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น 2. Local Employment and Resources ยกระดับผู้ผลิตต้นน้ำ ให้สร้าง/จ้างงานคนในพื้นถิ่น ใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในพื้นถิ่น หรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 3. Local Community & Network สร้างเครือข่ายชุมชน หรือเครือข่ายธุรกิจชุมชน รวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันองค์ความรู้ เทคนิค วัตถุดิบ โอกาสหรือตลาดรองรับสินค้า 4. Local Economy ทำให้ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจชุมชนยาวขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตมากขึ้นและสามารถเติบโตไปด้วยกัน 5. Local Support คืนกำไรกลับสู่สังคมเมื่อธุรกิจดำเนินไปจนมีกำไรสุทธิ ร้อยละ 2.5 หรือที่เรียกว่า “ซะกาต” เพื่อดูแล และแบ่งปันให้กับบุคคล 8 กลุ่มตามหลักการของศาสนาอิสลาม ผู้ประกอบการท้องถิ่นมักจะนำซะกาตไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ขัดสน หากมีการจัดระบบซะกาตที่มีประสิทธิภาพจะเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้อีกมากมาย กระบวนการวิจัยดังกล่าว นับเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งในระบบซะกาตของประเทศไทยด้วย
การรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark มีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการควรนำกำไรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 บริจาคเพื่อสาธารณะกุศล หรือ ที่เรียกว่า วากัฟ การให้โดยสมัครใจ บ่งบอกถึงการเสียสละเพื่อส่วนรวม ผศ.ดร.มัฮซูม ย้ำว่า มาตรฐาน AHSAN Trustmark เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศที่จะส่งออกสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวมุสลิม มีส่วนร่วมในการขอรับรองมาตรฐานดังกล่าวได้ด้วย โดยยึดหลักธุรกิจชุมชน 5L- Localism ส่วนเงื่อนไขการสนับสนุนชุมชน Local Support ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่มุสลิมนำหลักฐาน/ใบเสร็จการนำกำไรของธุรกิจไปบริจาค หรือให้คืนกลับสู่สังคมมาแสดงในการขอรับรองมาตรฐานได้เช่นกัน
“เราต้องการให้ AHSAN Trustmark เป็นมาตรฐานรับรองทุกธุรกิจให้ความสำคัญกับหลักคิด Localism ทั่วประเทศไทย การรับรองมาตรฐานยืดหยุ่นได้หลายระดับ เพียงแต่ใจความสำคัญคือ ทุกธุรกิจควรมีการเกื้อกูลชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เปิดให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมขยับเศรษฐกิจฐานรากด้วย นี่คือคุณค่าที่เราใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภคหรือตลาดเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานนี้”
ผศ.ดร.มัฮซูม กล่าวอีกว่า ปีที่ผ่านมาได้นำร่องจำหน่ายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ประเภทเสื้อผ้า ฮิญาบมุสลิม จากการทำงานวิจัยร่วมกับกรอบการวิจัย Local Enterprises ของ บพท. ปีแรก (2565) ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจฮิญาบท้องถิ่นกว่า 10 ราย สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นทีมเวิร์ก แลกเปลี่ยน แบ่งปัน มีส่วนร่วมกันทั้งการพัฒนาความรู้ เทคนิค วัตถุดิบการผลิต การเงิน การบริหาร จับคู่ทางธุรกิจ การลดต้นทุน และตลาดผู้บริโภค ทำให้อัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายรวมกันอยู่ที่ 48 ล้านบาท จากเดิมที่ต่างคนต่างทำเพื่อหากำไร และแข่งขันกันเองภายในพื้นที่ ดังนั้นในปีที่ 2 (2567) จึงใช้ธุรกิจฮิญาบเป็นสินค้านำร่อง ร่วมกับสินค้าอื่น ๆ โดยยอดจำหน่ายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ของผู้ประกอบการ 15 รายนั้นมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 61
“มาตรฐาน AHSAN Trustmark จึงเป็นคานงัดที่ทรงพลัง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่เข้ามาร่วมเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมกับ ม.ฟาฏอนี และ บพท. มีความเข้มแข็ง ก้าวต่อได้ด้วยตัวพวกเขาเองอย่างยั่งยืน หรือ “ปล่อยมือได้” เพราะนักวิจัยไม่สามารถอยู่กับผู้ประกอบการได้ตลอดไป แต่เราก็ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ให้เข้มแข็งขึ้นบ้างแล้ว”
ผศ. ดร.มัฮซูม ยังได้กล่าวด้วยว่า สถาบันมาตรฐาน AHSAN Trustmark ตั้งอยู่ใน อ.จะนะ จ.สงขลา และเปิดศูนย์นวัตกรรม AHSAN Trustmark สร้างอาชีพนักศึกษาและชุมชน มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ฝึกฝนทักษะอาชีพต่าง ๆ ให้ผู้สนใจ ในปีนี้นำร่องด้วยธุรกิจฮิญาบ
ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจยื่นขอการรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark สินค้าและผลิตภัณฑ์ของท่านต้องผ่านการรับรองคุณภาพการผลิตขั้นพื้นฐานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อนตามมาตรฐานการผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ อาทิ การรับรองจากมาตรฐานอาหารและยา (อย.), มาตรฐานฮาลาล โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ผู้สนใจแสดงความประสงค์ได้ที่ เว็บไซต์ AHSAN Trustmark จากนั้นจะมีกระบวนการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ ตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรฐาน 5L-Localism กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่นาน มีค่าธรรมเนียมการรับรองมาตรฐาน 1,500 บาท ต่อประเภทสินค้า อายุการรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark 1 ปี ล่าสุดสถาบันมาตรฐาน AHSAN Trustmark ให้การรับรองมาตรฐานให้แก่สินค้าได้ถึง 9 ประเภท ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ahsan-trustmark.org
ข่าวอัพเดท

ปส.ร่วมเครือข่ายโลกเชื่อมระบบเฝ้าระวังนิวเคลียร์
วันศุกร์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568

ม.ฟาฏอนี พัฒนา AHSAN Trustmarkรับรองสินค้ามุสลิม
วันศุกร์ ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2568

ไทยโกย25เหรียญทองสิ่งประดิษฐ์งานประกวดเจนีวา
วันพฤหัส ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2568

คนนับล้านชื่นชอบรถพาเหรดไทยของ “สวนนงนุช”ในงาน”เทศกาลดอกไม้“ระดับโลก
วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2568

เปิดไทม์ไลน์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก 77 จังหวัดปี 2568
วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2568

ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกสุดรอบปีคืนสงกรานต์
วันเสาร์ ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2568
