ถอดรหัสยกระดับวัฒนธรรมอาหารไทย-จีน
วันศุกร์ ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
การดู : 295
แชร์ :
ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารเดินหน้าสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญไทย-จีน หวังถอดรหัสการท่องเที่ยวเชิงอาหารจีน-ไทย สายใยแห่งวัฒนธรรมของเอเชีย ยกระดับศักยภาพด้านวิชาการ ผลักดันการท่องเที่ยว
รศ. ดร. พรรณี สวนเพลง หัวหน้าโครงการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ร่วมกับสมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จัดประชุมสัมมนาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1 ที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในประเทศจีน เพื่อถอดรหัสการท่องเที่ยวเชิงอาหารจีน-ไทย สายใยแห่งวัฒนธรรมของเอเชีย
ปัจจัยที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารในปักกิ่งประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 1. ความหลากหลายของอาหารในกรุงปักกิ่ง เช่น เป็ดปักกิ่ง เส้นหมี่ อาหารสตรีตฟู้ด ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 2. ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ยาวนานของกรุงปักกิ่ง อาคารโบราณ สถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวได้ 3. ประสบการณ์การกิน นักท่องเที่ยวได้สัมผัสบรรยากาศการกินที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การนั่งกินด้านข้างถนน ขณะที่นักดนตรีหรือศิลปินท้องถิ่นแสดง
ตัวอย่างถนนคนเดินด้านอาหารในปักกิ่ง ได้แก่ 1. ถนนหวังฝูจิ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงในกรุงปักกิ่ง เต็มไปด้วยร้านค้า แผงขายอาหารสตรีตฟู้ดตั้งแต่ของว่างท้องถิ่นไปจนถึงอาหารนานาชาติที่จัดเตรียมอาหารสดทั้งปิ้งย่าง ทอด และอื่น ๆ 2. ถนนหนานโหลวกู่เซี่ยง แหล่งช้อปปิ้งและอาหารตลอดสองข้างทาง นักท่องเที่ยวได้พบอาหารท้องถิ่น เช่น เส้นหมี่จ้าวเหม่ยและของว่างอื่น ๆ ที่หลากหลาย 3. ถนนเฉียนเหมิน มีร้านอาหารดั้งเดิมและร้านขนมที่มีชื่อเสียง เช่น ร้านเป็ดปักกิ่ง และเป็นแหล่งของที่ระลึก
การเชื่อมโยงระหว่างกรุงปักกิ่งและกรุงเทพมหานคร มีการนำเสนออาหารประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร ด้วยอาหารสตรีตฟู้ดที่มีเอกลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยว มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร มีโอกาสเรียนรู้วัฒนธรรม ประเพณีของแต่ละชาติ สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนจีนและคนไทย ตลาดอาหารสตรีตฟู้ดที่มีความเข้มแข็ง เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมการกินที่ไม่เหมือนใคร เป็นพื้นที่ที่หาของอร่อยและประสบการณ์ที่น่าจดจำ
คณะวิจัยยังสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยกวางตุ้ง มหาวิทยาลัยกวางสี สถาบันการท่องเที่ยวนคร มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ มหาวิทยาลัยเสฉวน เมืองเฉิงตู โดยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ผ่านการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาหาร และนวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร การแลกเปลี่ยนอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร
โอกาสเดียวกันนี้ นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน บรรยายเรื่องความสำคัญของจีนในโลกยุคปัจจุบันและความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-จีน ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดของประเทศจีนเข้าสู่ยุค Disruption อย่างแท้จริง โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) อันดับหนึ่งของโลก นายอาทินันท์ อินทรพิมพ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงปักกิ่ง บรรยายเรื่องสถานการณ์การค้าด้านการเกษตรระหว่างไทย-จีน เกี่ยวกับอาหารและสินค้าเกษตร รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไทยที่ได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากชาวจีนรุ่นใหม่ ที่ต้องการประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบสายตะลุยกินอาหารในท้องถิ่น พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนเปลี่ยนไปนิยมอาหารปลอดภัยและคุณภาพสูง ส่งผลต่อห่วงโซ่คุณค่าของการท่องเที่ยวอย่างมาก
ข่าวอัพเดท