มจธ.แจงความสำเร็จฝึกคนพิการทำอาชีพได้ผล84%
วันพฤหัส ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2568
การดู : 121

แชร์ :
ขยายโมเดลฝึกงานคนพิการทั่วประเทศ มจธ. แจงการขยายผลเครือข่ายเพื่อการพัฒนาคนพิการประกอบอาชีพ มีอีก 5สถาบันเข้าอบรม 300 คน ได้งาน 84% เป็นลูกจ้าง40 อีก 212 คนทำอาชีพอิสระ วราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.ร่วมยินดี การขยายผลให้สถาบันการศึกษาทั่วประเทศร่วมโดยไม่รบกวนงบ ใช้เงินกองทุนส่งเสริม พัฒนาคุณภาพคนพิการ เผยเทคโนโลยีใหม่ AI AR VR จะเสริมให้คนพิการทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น
เมื่อวันที่ 5 มีค.68 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานปิดโครงการการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาศักยภาพคนพิการเพื่อการประกอบอาชีพ ด้วยโมเดลการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ. HigherEd for PWD ระยะที่ 1 ที่อาคารการเรียนรู้พหุวิทยาการ (LX) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บางมด กรุงเทพฯ
โครงการขยายผลเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการสู่การประกอบอาชีพในตลาดแรงงานจริง เป็นการต่อยอดการอบรมอาชีพ ฝึกงานคนพิการที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง จากที่ มจธ.ทำเป็นต้นแบบและขยายออกไปอีก 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
นายวราวุธ กล่าวว่า ได้ทำบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ มีมหาวิทยาลัยที่เข้ามาร่วมอีก หวังว่าจะได้ใช้เงินจาก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่ให้ลำบากกับสถานศึกษามหาวิทยาลัย จะใช้เงินจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาสนับสนุนโครงการ เพื่อให้ทุกคนดึงเอาศักยภาพที่แท้จริงของคนพิการออกมารับใช้สังคม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆมากมาย คนพิการจะทำงานได้หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า เทคโนโลยีปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น AI AR VR จะเสริมศักยภาพการทำงานของคนพิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นคนเขียนโปรแกรมอยู่ ตราบนั้นคนก็ต้องทำงานไม่น่าเป็นอุปสรรค
นายวราวุธกล่าวกับผู้เข้าร่วมงานตอนหนึ่งด้วยว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้การจ้างงานคนพิการสะดวกขึ้น เช่น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต้องตระเวนตรวจป่า ก็ใช้โดรนควบคุมระยะไกลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยคนพิการได้ พบปัญหาจุดใดก็ประสานให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นเข้าตรวจสอบได้
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า โครงการ HigherEd for PWD เป็นการนำรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพคนพิการของโครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการ มจธ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ขยายผลผ่าน 5 มหาวิทยาลัยเครือข่าย ในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง เดิม มจธ ฝึกอาชีพให้คนพิการเฉลี่ยรุ่นละ 50 คน ส่วนโครงการ HigherEd for PWD ปีแรก ขยายการอบรมให้คนพิการจากทั่วประเทศได้ถึง 300 คน ทำให้สถาบันและบุคลากรที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจขั้นตอน ของการฝึกอาชีพคนพิการ ซึ่ง มจธ. ใช้เวลากว่า 10 ปีในการพัฒนา และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัยและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละพื้นที่
ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้เปิดให้คนพิการเลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง 2 แนวทางหลัก ได้แก่ หลักสูตรเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงาน สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานในสถานประกอบการ หลักสูตรอาชีพอิสระ สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น หลักสูตรการทำดอกไม้จันทน์ ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ไม่ได้สอนเพียงการผลิต แต่ยังสอนวิธีจำหน่ายและสร้างรายได้ด้วยตัวเอง
มจธ. มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุน ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ หางานหรือเริ่มต้นอาชีพของตัวเองได้จริง ผลลัพธ์จากรุ่นแรกที่มีผู้เข้าร่วม 300 คน พบว่า 84% ประกอบอาชีพได้จริง ได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการตามมาตรา 33 จำนวน 9 คน ทำงานภายใต้เงื่อนไขมาตรา 35 จำนวน 31 คน อีก 212 คนประกอบอาชีพอิสระ
โครงการฯ ระยะที่ 2 มุ่งขยายผลระดับประเทศ มีการลงนามบันทึกความเข้าใจให้สถานศึกษาเพิ่มศักยภาพของคนพิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ระหว่างกระทรวง พม. กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเชื่อมโยงการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ เปิดโอกาสให้คนพิการได้รับการพัฒนาทักษะมากขึ้น มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม 2 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิทยาเขตเทเวศร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เข้ามาร่วม
ข่าวอัพเดท

เจาะลึกเทคโนฯนวัตกรรม ววน. รับภัยพิบัติในอนาคต
วันอังคาร ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568

วิจัยพบกรุงเทพฯอยู่ในวงล้อม3แหล่งแผ่นดินไหว
วันอาทิตย์ ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568

ชี้3จุดสังเกตตึกถล่มเผชิญคลื่นแผ่นดินไหวดันดินอ่อน
วันเสาร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2568

2 ช่องทางขอตรวจอาคารแผ่นดินไหว กทม. – กรมโยธา
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ ร่วมยินดี 61 ปีเดลินิวส์
วันศุกร์ ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568

เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนามาตรวิทยารังสีเพื่อความปลอดภัย
วันพฤหัส ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2568
