กก.ความปลอดภัยเตือน Cyber Security เสี่ยงรอบด้าน

วันพุธ ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567

การดู : 63

กก.ความปลอดภัยเตือน Cyber Security เสี่ยงรอบด้าน

แชร์ :

กรรมการความปลอดภัยไซเบอร์ แจงความท้าทาย Cyber Security ขาดการตระหนักรู้ และการเตรียมความพร้อม เตือนไทยติดอันดับ2เสี่ยงการถูกโจมตีระบบซีซีทีวี

พลอากาศตรี อมร ชมเชย

 

 พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวระหว่างการสัมนา Data-Driven Nation  ระหว่างงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์  เมื่อวันที่27สค67 ตอนหนึ่ง ว่า ความท้าทายด้าน Cyber Security ในประเทศไทยมีปัญหาในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เนื่องจากขาดการตระหนักรู้และการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง มักเกิดการตระหนกเมื่อมีข่าวการแฮกหรือการรั่วไหลของข้อมูล แต่ขาดการตระหนักถึงความสำคัญในระยะยาว ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ในการใช้ CCTV ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ ผู้คนให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากกว่าความปลอดภัย ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ระบบ Cloud ที่ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่เหมาะสม ขอย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานความปลอดภัย เช่น ISO 27001 และ ISO 27017 ที่ควรนำมาใช้ในการเลือกผู้ให้บริการ Cloud และการจัดการข้อมูล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ความสำคัญของการมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้าน Cyber Security ซึ่งยังมีจำนวนที่น้อยในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดโอกาสในการพัฒนาตนเองและตลาดงานในสาขานี้ การส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและความเป็นส่วนตัวในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากขึ้น

         พลอากาศตรี อมร กล่าวอีกว่า การพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มีความซับซ้อน ต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากหลายฝ่ายเพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพสูงสุด การบูรณาการข้อมูลจะช่วยให้ประเทศไทยจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้พลังงานและงบประมาณ ทั้งยังนำข้อมูลมาใช้ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ยังขาดโอกาส อย่างไรก็ตาม การนำระบบบิ๊กดาต้ามาใช้ ยังต้องการการปรับปรุงและพัฒนาต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลให้มีความแม่นยำ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการพัฒนาและปกป้องระบบข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ

 

ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการด้านระบบการบริหารและจัดการข้อมูลและฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวแสดงปาฐกถา เรื่อง Data-Driven Nation: บูรณาการข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้รวบรวมและบูรณาการข้อมูลหลายด้าน โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จำต้องประสานงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัย เป็นความท้าทายในการรวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลในระดับประเทศ ที่ต้องอาศัยทั้งความร่วมมือและความเข้มงวดในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความเป็น Data-Driven Nation อย่างเต็มรูปแบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง