พริกไทยปะเหลียน: การพลิกฟื้นพืชพื้นถิ่นสู่มาตรฐานโลก
วันพุธ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
การดู : 211

แชร์ :
พริกไทยปะเหลียน จากผลผลิตที่ถูกลืม หนุ่มตรังฟื้นคืนชีพพืชดั้งเดิม ใช้หลักวิทยาศาสตร์ ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้คุณภาพ เอกลักษณ์แตกต่างจากทั่วไป เป็นพริกไทยพรีเมียม มูลค่าเพิ่มกว่า 30% นักธุรกิจเชี่ยวชาญตลาด ร่วมลงทุน ทำกลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มกว่า 40%

พริกไทยปะเหลียน จ.ตรัง กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง ด้วยความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้มุ่งมั่น นักวิจัยผู้พัฒนานวัตกรรม และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของพืชพื้นถิ่น ทำงานกันภายใต้โครงการยกระดับพริกไทยพันธุ์ปะเหลียนด้วยห่วงโซ่คุณค่าใหม่ เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่สู่ตลาดการแข่งขัน ตามแผนงาน มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น สร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียน ของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ในปี 2559 นายกิตติ ศิริรัตนบุญชัย นวัตกรชุมชน พริกไทยดำปะเหลียน ตัดสินใจเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อกลับบ้านที่จ.ตรัง ฟื้นฟูพริกไทยปะเหลียนพืชพื้นถิ่นให้กลับมา บนพื้นที่ 2 ไร่ที่มีอยู่ “พริกไทยปะเหลียนโดดเด่น มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ รสชาติเผ็ดร้อนเข้มข้น ลุ่มลึก ผลมีขนาดใหญ่เต็มเมล็ด ควรได้รับเผยแพร่ไม่ใช่ปล่อยให้หายไป”
ช่วงแรกการเพาะปลูก ต้องลองผิดลองถูก เรียนรู้การจัดการน้ำ ดิน ควบคุมโรคด้วยตัวเอง นำหลักการปลูกส้มมาประยุกต์ใช้ ซึ่งได้ผลดี นายกิตติเข้าร่วมโครงการสนับสนุนด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การปลูกแบบยั่งยืน การจัดการเกษตรกรรมสมัยใหม่ การแปรรูป และการทำตลาด เพื่อให้มีมาตรฐานการปลูกแบบ GAP (Good Agricultural Practices) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จนได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพ เป็นที่ยอมรับ
“ผลผลิตมีคุณภาพ ได้การยอมรับในตลาดพรีเมียม ตั้งราคาได้สูงถึง 400 บาท สูงกว่าพริกไทยทั่วไป 3 เท่า ทำให้มีกำลังใจเดินหน้าต่อ และชักชวนเกษตรกรในพื้นที่เข้ามาร่วมปลูกด้วย” นายกิตติ กล่าว
มทร.ศรีวิชัย สนับสนุนกลุ่มผู้จำหน่ายพริกไทยไปพร้อมกัน ยกระดับอุตสาหกรรมพริกไทยปะเหลียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยให้คำปรึกษากับเจ้าของพริกไทยปะเหลียนแบรนด์ “Black Gold Trang Pepper” เปลี่ยนสวนปาล์มเก่า 50 ไร่ มาปลูกพริกไทยปะเหลียนเมื่อปี 2562จนประสบความสำเร็จแง่ของผลิตภัณฑ์

“ทีมวิจัยจาก มทร.ศรีวิชัย และคุณกิตติ ทำให้เรามั่นใจเดินหน้าในธุรกิจนี้เห็นความเป็นไปได้ของพริกไทยปะเหลียนมาโดยตลอด เชื่อว่าโอกาสยังมีอยู่ หากพัฒนามาตรฐาน สร้างตลาดใหม่ที่เน้นคุณภาพได้” น.ส.กันต์หทัย จิตรไมตรีเจริญ หรือ ทราย ผู้บริหารของบริษัท แบล็คโกลด์ เทรชเซอร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “Black Gold Trang Pepper” กล่าว
การฟื้นฟูพริกไทยปะเหลียน มีรูปแบบการประสานความร่วมมือ นายกิตติใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการเพาะปลูก น.ส.กันต์หทัย (ทราย)เชี่ยวชาญการตลาด ช่วยพัฒนาศักยภาพเกษตรกร วิสาหกิจและผู้ประกอบการรวม 11 ราย ส่งผลให้มูลค่าพริกไทยตรังเพิ่มขึ้น 20-33.33 % รายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้น 43.60 % ลดหนี้สินลง 14.37 %
ดร.นภัสวรรณ เลี่ยมนิมิตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย นักวิจัยผู้ร่วมพัฒนากล่าวว่าความสำเร็จในการทำงานของคุณกิตติ คือการรวมเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมแมลงศัตรูพืช ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ได้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของผู้ประกอบการมาเสริม ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพสูง ตอบโจทย์ตลาด สิ่งที่จะทำร่วมกันต่อไปคือ การส่งเสริมแนวทางการผลิตแบบออร์แกนิก เพื่อเพิ่มมูลค่าของพริกไทยปะเหลียนในอนาคต
ข่าวอัพเดท

แจงผลวิจัยสารหนูพบปลาแค้แม่น้ำกกมีโลหะปนเปื้อน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

จันทบุรีผนึกภาครัฐ-เอกชน สร้างพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เจริญนครอุ่นใจ สปสช.จัดคลินิก 30บาทรักษาทุกที่กลางชุมชน
วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

เริ่มแล้ว!! มหกรรมสินค้าไอทีกลางปี COMMART UNLIMIT
วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

สวพส. จัดการน้ำบนพื้นที่สูง…เปลี่ยนวิถีชุมชน…สู่ความมั่นคงทางอาหารยั่งยืน
วันศุกร์ ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

ทีมวิจัยระดมทีมเฝ้าระวังน้ำท่วมเชียงราย-น่าน
วันพฤหัส ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
