ชลประทานย้ำ 7 จ.เสี่ยงเจ้าพระยาล้น·
วันอังคาร ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2567
การดู : 135
แชร์ :
กรมชลประทาน คาดการณ์ลุ่มเจ้าพระยา 3 วัน 7 จังหวัดเสี่ยงน้ำเจ้าพระยาล้นตลิ่ง ส่วนสถานการณ์ล่าสุด ลำน้ำสายหลักแนวโน้มลด พื้นที่ล้นตลิ่งเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อ่างเก็บน้ำหลักมีปริมาณ 83% จับตาภาคใต้ฝนเพิ่ม ส่วนผู้ประสบภัยน่ำท่วมที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดมาตรการช่วยเหลือ ลดภาษี เว้นค่าเช่าที่ราชพัสดุ สินเชื่อซ่อมแซม
กรมชลประทาน รายงานระดับน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 3 วันล่วงหน้าวันที่ 15-17 ต.ค. 67 พื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด ได้แก่ จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรสงคราม ให้เฝ้าระวังน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำ โดยมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่15 - 24 ตค.67
วันที่ 15 ต.ค.67 มีการประชุมคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ แม่น้ำสายหลักต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสมแต่ละพื้นที่ โดย ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม
รายงานแจ้งสถานการณ์ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 61,487 ล้าน ลบ.ม. (81% ของความจุอ่างฯ) ยังรองรับน้ำได้รวมกันอีก 14,873 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,622 ล้าน ลบ.ม. (83% ของความจุอ่างฯ) ยังรองรับน้ำได้อีกกว่า 4,200 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน วันที่ 1 พ.ย. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จะมีน้ำใช้การได้รวมกัน 33,417 ล้าน ลบ.ม. มากว่าปี2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน 568 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่มีแนวโน้มลด ส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติโดยเร็วที่สุด
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ปริมาณฝนจะลดลง จึงกำชับโครงการชลประทานในพื้นที่ดังกล่าว วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่กับการเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างให้วางแผนรับน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อเก็บกักไว้ให้เกษตรกรได้ใช้เพาะปลูกช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
พื้นที่ภาคใต้ จะมีฝนเพิ่มขึ้น กรมฯได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เข้าประจำจุดเสี่ยง ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทานให้ใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปโดยสะดวก ลดผลกระทบที่จะเกิดให้มากที่สุด
นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือที่ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่าจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกัน เพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย โดยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล และเงินชดเชยจากบริษัทประกันภัย ไม่นับรวมเป็นรายได้คำนวณภาษี ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย
กรมธนารักษ์ ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย มีหลักเกณฑ์ การเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี เสียหายทั้งหลัง ยกเว้นค่าเช่า 2 ปี การเช่าเพื่อการเกษตร ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากทำกิจการตามปกติไม่ได้เกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติม ให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย
สินเชื่อ Soft loan เพื่อช่วยเหลือ ซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ประสบอุทกภัย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5 % ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี ให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยขอรายละเอียดของสินเชื่อได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน (มี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม) โครงการ SMEs No One Left Behind ของ บสย. ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท มีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000 – 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25 % ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
ข่าวอัพเดท