‘ฟ้ามืด’ทรัพยากรท่องเที่ยวเปิดใหม่อีก18 จุด
วันเสาร์ ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2567
การดู : 85
แชร์ :
ททท.+สดร.ประกาศขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดเพิ่ม 18 จุด จาก30แห่งที่มี หมู่บ้าน เทศบาล ชานเมือง เอกชน เข้าร่วม สร้างประสบการณ์ใหม่ให้เมืองไทยเที่ยวได้ 365 วัน
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) ประกาศขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ปี 2567 ในโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3เพิ่มอีก 18 แห่ง ให้เป็นพื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่อง สร้างกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวได้สัมผัสความงามของธรรมชาติยามค่ำคืน
น.ส.สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท.กล่าวว่า AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3 เป็นโครงการส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ ด้วยความร่วมมือระหว่าง ททท. และ NARIT สนับสนุนรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ (Dark Sky Tourism) ให้เป็นสินค้าการท่องเที่ยว ส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวมิติใหม่ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experience - based – Tourism เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 365 วัน
ททท.เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มความสนใจพิเศษ ผู้สนใจดาราศาสตร์ ชื่นชอบการดูดาว และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติ สัมผัสความสวยงามของท้องฟ้า ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ เช่น สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก หรือชมความสวยงามของกลุ่มดาวจักรราศี และดวงดาวต่าง ๆ ที่ปรากฏในท้องฟ้าแต่ละเดือน เติมเต็มประสบการณ์การท่องเที่ยว สอดแทรกความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ เชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อการกระจายรายได้ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากอย่างทั่วถึง
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า NARIT ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 รณรงค์ให้ตระหนักถึงมลภาวะทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า ให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ ในปี พ.ศ. 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย 30 แห่ง
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 1) อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในอุทยานแห่งชาติ 2) ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) ในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลาที่หมาะสม 3) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) เช่น รีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ 4) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) ลักษณะเป็นลานโล่ง ใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง เพื่อสังเกตปรากฏการณ์และจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์
เกณฑ์พิจารณาคัดเลือก ต้องมีพื้นที่โล่งไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร สังเกตการณ์ท้องฟ้าโดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ สังเกตเห็นดาวเหนือและดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุด หรือวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ด้วยตาเปล่าได้ มีผู้ให้บริการความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ มีสิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางคมนาคม ห้องนำ ที่พัก ร้านอาหาร จุดบริการไฟฟ้า ฯลฯ
ปีนี้มีพื้นที่ผ่านการคัดเลือก 18 แห่ง ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/
รายชื่อสถานที่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567
อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) |
||
1.สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ |
จ.เชียงใหม่ |
|
2. อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ |
จ.แม่ฮ่องสอน |
|
3. อุทยานแห่งชาติตาดโตน |
จ.ชัยภูมิ |
|
4. อุทยานแห่งชาติไทรทอง |
จ.ชัยภูมิ |
|
5. อุทยานแห่งชาติภูผายล |
จ.สกลนคร |
|
6. อุทยานแห่งชาติภูเวียง |
จ.ขอนแก่น |
|
|
||
ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) |
||
1. วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่ |
จ.นครราชสีมา |
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) |
||
1. ฉ่าเก่อปอ |
จ.เชียงใหม่ |
|
2. พร้าวแคมป์ปิ้งค์ |
จ.เชียงใหม่ |
|
3. ฮ่อมลมจอย |
จ.เชียงราย |
|
4. ภาวนานิเวศน์ แคมป์ |
จ.นครสวรรค์ |
|
5. ภูคำหอม เขาใหญ่ |
จ.นครราชสีมา |
|
6. สวนไพลินชมดารา |
จ.นครราชสีมา |
|
7. อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง |
จ.นครราชสีมา |
|
8. โรงแรมโซเนวา คีรี |
จ.ตราด |
|
9. บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา |
จ.พังงา |
|
10. อธิ การ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง |
จ.พังงา |
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbes) |
|
1. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี |
จ.ชลบุรี |
ข่าวอัพเดท